นักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทยร่วมกับเทศบาลเมืองเบตงจัดโครงการออกกำลังกายด้วยกีฬาปันจักสีลัต พัฒนาทักษะการกีฬาปันจักสีลัต สู่ความเป็นเลิศ ร่วมอนุรักษ์ศิลปะกีฬาพื้นบ้านชาวมลายูให้คงอยู่ต่อไป
นักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทยร่วมกับเทศบาลเมืองเบตงจัดโครงการออกกำลังกายด้วยกีฬาปันจักสีลัต พัฒนาทักษะการกีฬาปันจักสีลัต สู่ความเป็นเลิศ ร่วมอนุรักษ์ศิลปะกีฬาพื้นบ้านชาวมลายูให้คงอยู่ต่อไป
วันนี้ 31 สิงหาคม 2565 ที่อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายศิริ มงคลประจักษ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองเบตง เป็นประธานเปิดโครงการออกกำลังกายด้วยกีฬาปันจักสีลัต ประจำปี 2565 เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถป้องกันตัวด้วยศิลปะการต่อสู้ปันจักสีลัต ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพด้านกีฬา พัฒนาทักษะการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนอนุรักษ์ศิลปะกีฬาพื้นบ้านชาวมลายูให้คงอยู่ต่อไป โดยมีนายอาดีลัน เจ๊ะแมง นักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย ที่เคยคว้าเหรียญทอง รุ่น 60-65 กก. ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาเป็นวิทยากรการสาธิตและฝึกสอนกีฬาปันจักสีลัต ให้นักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
นายอาดีลัน เจ๊ะแมง นักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย กล่าวว่า กีฬาปันจักสีลัตคือศิลปะการป้องกันตัวซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมกีฬาของชนชาวอาเซียน สำหรับในประเทศไทยนั้น จัดการแข่งขันในทุกระดับตั้งแต่กีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย กีฬามหาวิทยาลัย กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬาแห่งชาติ โดยใช้ระเบียบ-กติกาของสหพันธ์ปันจักสีลัตนานาชาติ ซึ่งกีฬาปันจักสีลัตก็ได้รับบรรจุให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรก ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ณ นครจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2530 และได้มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกีฬาปันจักสีลัตแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทการต่อสู้ (Tanding) ประเภทเดี่ยวปันจักลีลา (Tunggal) ประเภทคู่ปันจักลีลา (Ganda) และประเภททีมปันจักลีลา (Rega)
สำหรับ ปันจักสีลัต (Pencak Silat) เป็นคำที่มาจากภาษาอินโดนีเซียมาจากคำว่า ปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึงศิลปะ รวมความแล้วหมายถึงศิลปะการป้องกันตนเอง กีฬาประเภทนี้เดิมเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมาลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา เรียกว่า “สิละ” “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม
ข่าว..เจษฎา สิริโยทัย อ.เบตง จ.ยะลา โทร.064-126-5593 – 080-036-2786