“รัฐมนตรีเฉลิมชัย” มอบรางวัลเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC Award 2022 ชูเป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตร 4.0 มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเกษตรอัพเกรดสู่เกษตรมูลค่าสูง
“รัฐมนตรีเฉลิมชัย” มอบรางวัลเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC Award 2022 ชูเป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตร 4.0 มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเกษตรอัพเกรดสู่เกษตรมูลค่าสูง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณรางวัลเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ปี 2565 ( AIC Award 2022 ) โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายโอภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ได้รับรางวัล AIC Award 2022 เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ โดยขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ซึ่งในปีหน้าจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีเกษตร 5.0 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมการเกษตร ตามมาตรฐานการเกษตรปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) เป็นแหล่งบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร สามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน
“การขับเคลื่อนงานของศูนย์ AIC นับว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถ สร้างโอกาสในการแข่งขันในภาคการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม เครื่องจักรกลเกษตร รวมไปถึงเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่ช่วยผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสถาบันการศึกษา สู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) หรือ CoE เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของศูนย์ CoE ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ถ่ายทอดไปยังเกษตรกร และกำหนดงานวิจัย ที่เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่
ซึ่งการมอบรางวัลเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมประจำปี 2565 หรือ AIC Award 2022 ในครั้งนี้ มุ่งหวังให้พัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมเพื่ออัพเกรดภาคเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง สามารถนำไปถ่ายทอดสู่พี่น้องเกษตรกรให้ได้รับความรู้ และสามารถปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ ต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานกรรมการบริหารศูนย์ AIC กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา 69 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย 58 แห่ง
สถาบันอาชีวศึกษา 8 แห่ง และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 3 แห่ง จัดตั้งศูนย์ AIC รวม 77 ศูนย์ใน 77 จังหวัด และศูนย์ความเป็นเลิศ จำนวน 23 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งอบรมบ่มเพาะและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญาด้านการเกษตร และนวัตกรรมทางการเกษตร ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการให้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และเกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม และเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมการเกษตรไปปรับใช้ในฟาร์มของตน
ทั้งนี้ ศูนย์ AIC ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานเป็นระยะเวลา 2 ปี และในปีนี้คณะกรรมการบริหารศูนย์ AIC ได้มีกิจกรรมการคัดเลือกและมอบรางวัล AIC Award 2022 ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การขับเคลื่อนศูนย์ AIC เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เกิดการพัฒนานวัตกรรม เห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์รูปแบบนวัตกรรมทางการเกษตร การให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมและการให้บริการดีเด่นระดับประเทศขึ้น
สำหรับผลการคัดเลือกที่ได้รับรางวัล มีดังนี้ 1. ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม สาขานวัตกรรมเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “งานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนประมงชายฝั่ง” โดย ผศ.ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี และคณะ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ผลงาน “นวัตกรรมการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง” โดย ผศ.ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว และคณะ มหาวิทยาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดตรัง รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ผลงาน “อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์” โดย ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศแมลงอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ 2. ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม
สาขานวัตกรรมเพื่อสังคมการเกษตร รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “ไตรโคเดอร์มา⁵ ⁺ ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชมาตรฐานสากล” โดย รศ.ดร.วาริน อินทนา และคณะ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช
รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ผลงาน “กระบวนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพสูงเพื่อทางเลือกของเกษตรกร” โดย รศ.ดร. ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้าวพื้นเมืองล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ผลงาน “นวัตกรรมกระบวนการสู่การผลิตมะขามหวานคุณภาพจังหวัดอุตรดิตถ์” โดย ผศ.ดร.พิชัย ใจกล้า และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ 3. ประเภทศูนย์ AIC สมรรถนะสูง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดเพชรบุรี
4. ประเภทศูนย์ข้อมูลดีเด่น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดสมุทรสาคร.