ม.พะเยา จับมือ สภาพัฒน์ฯ ผลักดัน พะเยา เป็น เมืองนกยูงไทยระดับโลก เพื่อพัฒนาล้านนาตะวันออกสู่การท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ม.พะเยา จับมือ สภาพัฒน์ฯ ผลักดัน พะเยา เป็น เมืองนกยูงไทยระดับโลก เพื่อพัฒนาล้านนาตะวันออกสู่การท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์
มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิชาการ ร่วมกับ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดพะเยา ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานรากในภาคเหนือ โครงการพัฒนาล้านนาตะวันออก“เมืองนกยูงไทยระดับโลก” (Green Peafowl Route) สู่การท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเชื่อมโยงล้านนา ล้านช้าง ลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวิน พร้อมมอบธงเครือข่ายสถาบันศึกษาอนุรักษ์นกยูงไทย ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนระดับชั้นอนุบาล จำนวนในเมืองพะเยา เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ร่วมกันเป็นเครือข่าย ในการอนุรักษ์นกยูงไทยอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยว่า “นกยูงไทยที่เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์โดยมีจำนวนเหลือมากที่สุดที่ประเทศไทย ซึ่งจังหวัดพะเยา ถือได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของนกยูงไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง และบริเวณวนอุทยานร่องคำหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชุมชนและมหาวิทยาลัยเองก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงไทย เราจึงประสานงานกับภาคส่วนต่างๆในการวางแผนอนุรักษ์นกยูงไทยแบบบูรณาการ เพื่อการเชื่อมโยงสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการนำนกยูงที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ร่วมกับชุมชนเพื่อวางแนวทางร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนด้วยองค์ความรู้และบุคลากรคุณภาพของมหาวิทยาลัย ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเป็นปัญญาเพื่อนำพาความเข้มแข็งให้ชุมชน เราเชื่อว่าการพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยก็ย่อมส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งไปพร้อมกัน”
“ปัจจุบันจำนวนนกยูงไทยในหลายๆประเทศลดน้อยลง เช่น ประเทศจีนเหลืออยู่ไม่เกิน 200 ตัว และบางประเทศนกยูงไทยได้สูญพันธ์ไปแล้ว เช่นที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่กลับปรากฏว่าในพื้นที่ล้านนา มีนกยูงไทยแพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับสากลได้ระบุว่า พื้นที่ผืนป่าเหล่านี้ถือเป็น The Last Stronghold of Green Peafowl in The World หรือ ฐานที่มั่นสุดท้ายของเหล่านกยูงสีเขียวในโลกที่มีอาณาเขตติดต่อกันเป็นดินแดนกว้างใหญ่ จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และส่วนราชการในจังหวัดพะเยา ในโครงการพัฒนาล้านนาตะวันออก เมืองนกยูงไทยระดับโลก เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถเยี่ยมชมนกยูงไทยได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของล้านนา ล้านช้าง ลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวินโดยมีนกยูงเป็นสื่อกลาง” “การใช้นกยูงเป็นสื่อกลางในโครงการพัฒนาล้านนาตะวันออก “เมืองนกยูงไทยระดับโลก” สู่การท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่เป็นการพลิกวิกฤตการสูญพันธ์ของนกยูงให้เป็นโอกาส แต่ยังเป็นการการสร้างความสัมพันธ์จากคุณค่าสู่มูลค่า เพื่อความกินดีอยู่ดีภายใต้กรอบความคิดที่ว่า “นกยูงอยู่ได้ คนอยู่ได้”อีกด้วย