นครราชสีมา-ธ.ก.ส.มอบของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร ทั้งคืนดอกเบี้ย ลดภาระหนี้ และเสริมสภาพคล่อง
นครราชสีมา-ธ.ก.ส.มอบของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร ทั้งคืนดอกเบี้ย ลดภาระหนี้ และเสริมสภาพคล่อง
วันที่ 28 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประยงค์ มุ่งยุทธกลาง ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2566 ธ.ก.ส. ขอส่งมอบของขวัญพิเศษให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ทั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ภัยธรรมชาติ และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้
โครงการ ชำระดีมีคืน ปี 2565 โดยคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อรายให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ที่ถึงกำหนด เพื่อลดภาระการชำระหนี้และเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท
โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน ปีบัญชี 2565 สำหรับลูกค้าที่มีหนี้สินอันเป็นภาระหนัก ได้แก่ ลูกหนี้ (Non – Performing Loan – NPL) ลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และลูกหนี้ที่ออกจากโครงการพักชำระหนี้ต่าง ๆ ของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยลดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา กรณีชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้เสร็จสิ้น ลดดอกเบี้ยร้อยละ 30 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีชำระดอกเบี้ยบางส่วน เกษตรกรรายบุคคลได้ลดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และลูกหนี้กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของดอกเบี้ย ที่ชำระจริง
มาตรการทางด่วนลดหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ค้างชำระและสามารถชำระหนี้ได้จะได้รับการลดดอกเบี้ย 30-50%
มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย ปี2565 สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ค้างชำระ (NPL) และสามารถชำระหนี้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของต้นเงิน จะได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ ไม่เกิน 20 ปี และลดดอกเบี้ยค้างชำระได้ถึง 50 % เมื่อชำระต้นเงินเสร็จสิ้น
มาตรการชำระหนี้ตามสัดส่วน ( จ่ายดอก ตัดต้น) เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ
มาตรการปรับตารางชำระหนี้ (จ่ายต้น ปรับงวด ) เมื่อลูกหนี้สามารถชำระไม่น้อยร้อยละ 1 ของต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งสัญญา ณ วันชำระ และลดดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ เพื่อให้สอดกับความสามารถในการชำระหนี้
สินเชื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ สำหรับลูกค้าเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์นอกภาค ( สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ ) ที่ประกอบธุรกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยประกอบไปด้วย
1.สินเชื่อเพื่อการปรับตัวธุรกิจ ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ (New Normal ) เพื่อให้ทันกระแสดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2 % ต่อปี 2 ปีแรก ปลอดชำระดอกเบี้ย 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุด 150 ล้านบาท ระยะเวลาขอสินเชื่อ ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 เมษายน 2566 หรือจนกว่าจะครบวงเงินสินเชื่อตามมาตรการ ฯ
2.สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ รักษาการจ้างงาน ฟื้นฟูการประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยต้องไม่นำเงินกู้ไปเพื่อชำระหนี้เดิม (Refinance) กับสถาบันการเงินอื่น หลักประกันเงินกู้ ต้องค้ำประกันเงินกู้โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) โดยมีค่าธรรมเนียมไม่เกิน 1.75 % ในส่วนของวงเงินกู้ ลูกค้าเดิมกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. และลูกค้าใหม่ ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-2 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี (โดยรัฐบาลชำระดอกเบี้ยแทนผู้กู้ใน 6 เดือนแรก ปีที่ 3-5 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4.875 หรือ 6.5 ตามประเภทลูกค้า ระยะเวลาการขอสินเชื่อ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อตามมาตราการจะหมดลง
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี2565-2567
นอกจากนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ได้เห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 และมาตรการคู่ขนาน ได้แก่โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายในประเทศ คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 และมาตรการคู่ขนาน โดยดำเนินการในทุกเขตพื้นที่ของประเทศไทยที่มีผลผลิตข้าวเปลือก นั้น
ในส่วนของมาตราการตามนโยบายรัฐบาล ที่สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย โครงการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ตามโครงการต่าง ๆ ดังนี้
1.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในเขตจังหวัด นครราชสีมา ได้ดำเนินการโอนแล้ว 247,617 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,096,934,863 บาท
2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการโอนแล้ว 10 รอบ จำนวนราย 148,959 ราย เป็นจำนวนเงิน 445,697,349 บาท
3.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้ว 1,074 ราย จำนวน 7,633 ตัน เป็นจำนวนเงิน 81,071,940 บาท โดยมีแผนดำเนินการ 460,000 ตัน เป็นจำนวนเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท
4.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2565/66 เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือก 1 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อรวมทั้งประเทศ 10,000 ล้านบา
5.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการโอนให้เกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ว 8 ครั้ง จำนวน 15,237 ราย เป็นจำนวนเงิน 121,028,268.58 บาท
ทั้งนี้ ลูกค้าทีประสบปัญหาหนี้ สามรถติดต่อปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา ได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาที่ทำสัญญาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
ภาพข่าว / อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.นครราชสีมา