พ่อเมืองปทุมธานี ล่องเรือสืบสานประเพณีลำพาข้าวสาร แห่ผ้าห่มหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโต ทางแม่น้ำเจ้าพระยา
พ่อเมืองปทุมธานี ล่องเรือสืบสานประเพณีลำพาข้าวสาร แห่ผ้าห่มหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโต ทางแม่น้ำเจ้าพระยา
วันนี้ (28 ต.ค.66) เวลา 09.00 น. ที่ สวนเทพปทุมเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีเปิดงานสืบสานประเพณีลำพาข้าวสาร จังหวัดปทุมธานี ประจำปี พ.ศ. 2566 แห่ผ้าห่มหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโต ทางน้ำ โดยมี นางบุษบา บุญญลักษม์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี นายขจรเกียรติ จินดาวรานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นางลัษมา ธารีเกษ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประเพณี
โดยหลังจากทำพิธีเปิดงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และผู้ร่วมพิธี ได้ลงเรือล่องขึ้นเหนือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา และแวะจอดรับข้าวสาร อาหารแห้ง ปัจจัยต่างๆ จากประชาชนริมฝั่งน้ำที่ท่าน้ำวัดตำหนัก และท่าน้ำวัดเจดีย์ทอง และท่าน้ำวัดโบสถ์ ก่อนจะขึ้นจากเรือ แห่ผ้าห่มหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโต พร้อมถวายดอกบัว ณ วัดโบสถ์ อำเภอสามโคก
สำหรับประเพณีลำพาข้าวสาร เป็นประเพณีประจำจังหวัดปทุมธานี มาตั้งแต่อดีต ประชาชนชาวปทุมธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเป็นมา และคุณค่าสาระของประเพณีดังกล่าว สภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี สมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี จึงได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เทศบาลเมืองปทุมธานี หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด รวมถึงภาคเอกชน นายอนันต์ เภตรา ประธานบริษัทในเครือเภตรากรุ๊ป นายพัฒนา กันอำพล ผู้บริหารบริษัท เค.ซี.ไอ. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี สมาคมกีฬาจักรยานปทุมธานี สมาคมส่งเสริมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานีและสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยปทุมธานี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณีลำพาข้าวสารจังหวัดปทุมธานี ประจำปี พ.ศ. 2566 แห่ผ้าห่มหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโต ทางน้ำ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีสำคัญอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดปทุมธานี ให้คงอยู่สืบไป
สญชัย คล้ายแก้ว/รายงาน