กาฬสินธุ์เขื่อนลำปาวประกาศเพิ่มปริมาณระบายน้ำวันละ20ล้านลูกบาศก์เมตร

กาฬสินธุ์เขื่อนลำปาวประกาศเพิ่มปริมาณระบายน้ำวันละ20ล้านลูกบาศก์เมตร

จังหวัดกาฬสินธุ์หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำเขื่อนลำปาวยังคงเกินระดับกักเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดออกประกาศเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ย้ำระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน ยันให้เกิดผลกระทบพื้นที่น้อยที่สุด
วันที่ 28 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวและยังคงจนเกินระดับกักเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดยังมีน้ำไหลเข้าเพิ่มอีก 31 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,041 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับกักเก็บ 1,980 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 103 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีปริมาณเกินกักเก็บ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา เรื่อง สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว และแนวทางการระบายน้ำ

โดยระบุว่าปัจจุบันมีฝนตกอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จากร่อง ความกดอากาศต่ำกำลังแรง ตามประกาศแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในปริมาณมากกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างในปริมาณมากต่อเนื่องไปอีก ไม่น้อยกว่า 7 วัน จึงทำให้ปัจจุบันได้มีการปรับการระบายน้ำ ผ่านอาคารระบายน้ำ (Service Spillway) เป็นวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หากยังไม่ทำให้ปริมาณน้ำในอ่าง เก็บน้ำมีแนวโน้มลดลง จึงมีความจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำต่อไปเป็นวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน ซึ่งจะทำให้ระดับในลำน้ำปาวด้านท้ายเขื่อน จะมี ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอประกาศให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อน บริเวณสองฝั่งลำน้ำปาว ได้ติดตาม สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขนย้ายสิ่งของที่อยู่บริเวณที่ต่ำขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหาย
ด้านนายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ยืนยันว่า การเพิ่มปริมาณการระบายน้ำในช่วงนี้ เป็นการปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได เพราะมีความจำเป็นต้องระบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคำนึงถึงพี่น้องเกษตรกร และประชาชนให้ได้รับผลกระทบพื้นที่น้อยที่สุด