ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนสั่งเตรียมพร้อมรับมือ พายุ “โนรู”
ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนสั่งเตรียมพร้อมรับมือ พายุ “โนรู”
ที่กองอำนวยการป้องกันแลบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการอำนวยการของ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้อำนวยการจังหวัด มอบหมายให้ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุใต้ฝุ่น “โนรู” ที่อาจส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงในช่วงระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้แม่น้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม โดยสั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทุกอำเภอ ดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์พายุโนรู รวมทั้งประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ อาทิ ปริมาณฝน น้ำท่า การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อการเกิดสถานการณ์อุทกภัย และดินโคลนถล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนเกิดความปลอดภัย และช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
2. กำชับกองอำนวยการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยกำหนดพื้นที่ ภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ เตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
3. เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากฝ่ายพลเรือน ทหารตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
4. หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ
5. สำหรับอำเภอที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย และเกิดขึ้นต่อเนื่องให้จัดตั้งศูนย์พักพิงและวางแผนการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการอพยพของประชาชนอย่างเป็นระบบ
6. สำหรับอำเภอที่มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้มอบหมายหน่วยงาน ที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน การปิดกั้น หรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่
7. ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอที่ได้รับผลกระทบ สรุปสถานการณ์และรายงานให้กองอำนวยการป้องกันกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทราบ เพื่อรวบรวมให้กระทรวงมหาดไทยทราบ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทุกอำเภอ ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สาธารณภัยของอำเภอ มีแนวทางดำเนินการโดยแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำให้รายงานสถานการณ์น้ำเป็นระยะเพื่อให้พื้นที่ปลายน้ำได้เตรียมความพร้อมในแอพลิเคชันไลน์ของอำเภอ
ในพื้นที่เมืองและเขตเศรษฐกิจที่ทำการปกครองอำเภอได้แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมพร้อมหากเกิดสถานการณ์รุนแรงจะได้ปฏิบัติตามแผนเผชิญของอำเภอ
ที่ทำการปกครองอำเภอ ได้จัดเตรียมชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วเตรียมพร้อมปฏิบัติงานเมื่อได้รับแจ้งเหตุสาธารณภัย สามารถออกช่วยเหลือราษฎรตลอด 24 ชั่วโมง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมชุดปฏิบัติการประกอบด้วย ชุด OTOS อปพร. และชุดกู้ชีพ กู้ภัย ในการช่วยเหลือราษฎรตลอด 24 ชั่วโมง
เกียรติศักดิ์ รักสัตย์ / เกียรติยศ รักสัตย์ ทีมข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน CR.ปภ.จังหวัดแม่ฮ่องสอน.