ชวนคอกาแฟชิมกาแฟสุดยอดจาก 5 ดอย 3 จังหวัดภาคเหนือ “HRDI CAFE” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษทางหมอกควันด้วยการดื่มกาแฟจากพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ชวนเปิดประสบการณ์ ตามรอยศาสตร์พระราชา “ชิมกาแฟ แลดูสวน อุทยานหลวงราชพฤกษ์”
ชวนคอกาแฟชิมกาแฟสุดยอดจาก 5 ดอย 3 จังหวัดภาคเหนือ “HRDI CAFE” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษทางหมอกควันด้วยการดื่มกาแฟจากพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ชวนเปิดประสบการณ์ ตามรอยศาสตร์พระราชา “ชิมกาแฟ แลดูสวน อุทยานหลวงราชพฤกษ์” เรียนรู้หลักการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ศาสตร์พระราชา ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ และสัมผัสกับเสน่ห์อันล้ำลึกของกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดมลพิษทางหมอกควัน ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมืองเชียงใหม่
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมนางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดกิจกรรม ตามรอยศาสตร์พระราชา ชิมกาแฟ แลดูสวน อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจและการดำเนินงานของสถาบันให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเป็นการเผยแพร่ผลสำเร็จของเกษตรกรบนพื้นที่สูงจากการร่วมบูรณาการระหว่างสถาบันและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะการปลูกกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดมลพิษทางหมอกควัน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า โดยการขยายผลสำเร็จด้านวิชาการของโครงการหลวง มีการส่งเสริมกาแฟอราบิก้าไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดรายได้ทางการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูง
โดยอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้เปิดบริการร้านกาแฟและเครื่องดื่ม “HRDI CAFE” สำหรับนักท่องเที่ยว โดยนำเมล็ดพันธ์กาแฟจาก 5 พื้นที่ที่สถาบันได้ดำเนินงานส่งเสริม ได้แก่ – โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี (กาแฟดอยช้าง) หมู่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ (กาแฟบ่อเกลือ (ห้วยโทน) อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยลาง)อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ , โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง (กาแฟดอยแม่สลอง) อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางมะโอ (กาแฟดอยปางมะโอ) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นำกาแฟจาก 5 ดอยสูงของ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและน่าน มารวบรวมไว้พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้มาชิม ที่ร้านกาแฟภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์แห่งนี้
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงกับงานวิจัยและการพัฒนากาแฟอราบิก้าจัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน การดำเนินงานส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่ดำเนินงานทั้งหมด 26 แห่ง เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 17 แห่ง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน 9 แห่ง มีพื้นที่ที่ดำเนินงานใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ได้รับการส่งเสริมจากสถาบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 2,423 ราย พื้นที่ส่งเสริมปลูก จำนวน 7,966.09 ไร่ ผลผลิตกาแฟกะลา ประมาณ 260 ตันต่อปี เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตกาแฟกะลาผ่านมูลนิธิโครงการหลวงและตลาดอื่นๆ ในปีการผลิต 2559/60 จำนวน 29,826,067 บาท.
ทรงวุฒิ ทับทอง
Cr. ศิระ วีรตันตยาภรณ์