ผู้ว่าฯนราเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ
ผู้ว่าฯนราเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
วันที่ 26 มกราคม 2564 นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายอนันต์ แสงชาตรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน, นางสาวณัฐชยา ศรีดำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอทั้ง 13 อำเภอ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมหลวงปริวรรตวรวิจิตร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส
การประชุมในครั้งนี้สืบเนื่องจาก จังหวัดนราธิวาส ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดนราธิวาส เพื่อบูรณาการการทำงานและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดให้ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ของประชาชนในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตได้
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 2392 /2563 แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในรอบที่ 1 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล และระดับครัวเรือน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
สำหรับ วาระการประชุมที่สำคัญๆ ประกอบด้วย
1. รายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดนราธิวาส
3. เป้าหมายการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
4. ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
5. การขออนุญาตใช้ที่ดินซึ่งอยู่ในกำกับการดูแลของส่วนราชการ เพื่อดำเนินกิจกรรมตามโครงการ
6. การพิจารณาเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานฯ เพิ่มเติม โดยมติที่ประชุม ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารงานฯ เพิ่มเติมประกอบด้วย ประมงจังหวัดนราธิวาส สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคลังจังหวัดนราธิวาส
7. การพิจารณาแนวทางการขอความร่วมมือหน่วยงานสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ
8. การพิจารณาแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ขอให้อำเภอที่มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินโครงการจัดประชุมคณะทำงานศูนย์บริหารงานฯ ระดับอำเภอ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่อำเภอ รวมทั้งบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดผลสัมฤทธิ์ สร้างประโยชน์และคุณูปการให้แก่ประชาชนและเน้นย้ำว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้กับครัวเรือนเป้าหมาย รู้ถึงประโยชน์ คุณค่า ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและสังคมส่วนรวม ไม่ควรให้มีการถอนตัวจากการสมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้
โดย จังหวัดนราธิวาส มีเป้าหมายการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 74 ครัวเรือน กระจายในพื้นที่ 11 อำเภอ 39 ตำบล (ยกเว้นอำเภอจะแนะ และศรีสาคร) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) รวมทั้งสิ้น จำนวน 78 คน เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายในระยะเวลา 1 ปีแรก