รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ชมศักยภาพสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด พร้อมเปิดเครื่องอบลดความชื้น เสริมแกร่งสหกรณ์ใช้รวบรวมผลิต สร้างรายได้ยั่งยืนแก่สมาชิก
รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ชมศักยภาพสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด พร้อมเปิดเครื่องอบลดความชื้น เสริมแกร่งสหกรณ์ใช้รวบรวมผลิต สร้างรายได้ยั่งยืนแก่สมาชิก
(วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายนิรันดร์ มูลธิดารองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ติดตามการดำเนินงานและความก้าวหน้าตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมพบปะคณะกรรมการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
จากนั้น รมช.มนัญญา และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดรวบรวมผลผลิตการเกษตร (คุ้งวารี) ของสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมเป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรผ่านกลไกสหกรณ์ โดยมี นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายธนรัฐ โคจรานนท์ ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 4 และ 17นายสุธี ขันทอง สหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ นายประพันธ์ มายรรยงค์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด คณะกรรมการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รมช.มนัญญาได้มอบเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การตลาดให้แก่สหกรณ์ 17 แห่ง 1 กลุ่มเกษตรกร รวมมูลค่ามากกว่า 247ล้านบาท ส่งผลให้สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจรวบรวม 303,532.59 ตันคิดเป็นมูลค่า 2,179.42 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 39,948 รายมอบเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์สนับสนุนเงินกู้เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพปี 2566 จำนวน 31 สหกรณ์ วงเงิน 154.960 ล้านบาท และเงินชดเชยดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย วงเงินชดเชย 15.924 ล้านบาท สมาชิกจำนวน 23,964รายรวมทั้งได้มอบใบรับรองแหล่งพืช GAP พืช(ทุเรียน)ให้แก่เกษตรกร 5 ราย มอบพันธุ์ไม้ให้แก่ผู้แทนเกษตรกร 5 ราย
จากนั้นรมช.มนัญญาเป็นประธานพิธีเปิดเครื่องอบลดความชื้น ขนาด 500 ตัน/วัน ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดย สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน105.291 ล้านบาท ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิตการรวบรวมและการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โควิด 2019) พร้อมไซโลเป่าลมเย็นพร้อมโรงคลุม ขนาดไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน/วัน ผลการรวบรวม 95,671.94 ตัน คิดเป็นมูลค่า 758,117,930 บาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 10,121 ราย ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนส่งผลให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตในระดับชุมชน สมาชิกสามารถเข้าถึงประโยชน์จากสหกรณ์ในการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร การรวบรวม รับซื้อ และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
ที่ผ่านมาสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวโพดหลังนา ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งผลการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาในปีที่ผ่านมา สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถรวบรวมผลิต39,611 ตัน มูลค่ามากกว่า284.337 ล้านบาท ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 15 แห่ง จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 1,171 ราย พื้นที่ 15,693 ไร่ สนับสนุนเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ในอัตราพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สำหรับนำไปส่งเสริมการประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิก และเพื่อการสนับสนุนสหกรณ์ให้มีเงินทุนหมุนเวียนสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผนจากนั้น รมช.มนัญญาได้พบปะสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร กล่าวมอบนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาอาชีพการเกษตร เพื่อสร้างการรับรู้และให้กำลังใจแก่เกษตรกร
“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาภาคการเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริหารการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน มีมาตรการลดการใช้สารเคมีเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานGAPพัฒนาไปสู่เกษตรอินทรีย์ในอนาคต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยให้เกษตรกรมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน จะเห็นได้จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรผ่านกลไกสหกรณ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐได้สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ให้กับสหกรณ์การเกษตรหลายแห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาดของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ภาครัฐและเอกชนถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ช่วยให้การผลิตสินค้าเกษตรให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพและปลอดภัย รวมทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชนในด้านการตลาด สร้างเครือข่ายระหว่างสหกรณ์และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจด้านการเกษตร การพัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ ตามโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ โดยเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาดการค้าออนไลน์ ระบบบัญชีเพื่อขยายฐานการผลิตและฐานการตลาดของสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายสินค้าซึ่งแผนงานและโครงการกล่าวมา จะช่วยฟื้นฟู พัฒนา และยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” รมช.มนัญญา กล่าว
จากนั้น รมช.มนัญญา เยี่ยมชมนิทรรศการจัดแสดงผลงานของหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการเสริมสร้างการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อจัดการเศรษฐกิจระดับครัวเรือน โครงการเกษตรส่งเสริม/สนับสนุนการทำเกษตรปลอดภัย (GAP) และโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ที่เชื่อมโยงเครือข่ายสินค้ากับสหกรณ์ทั้งในและนอกจังหวัดเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์ รวมทั้งชมนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินการโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วม 3 ราย นำโดยนางจิดาภา อยู่เจริญ อายุ 38 ปี ปัจจุบันทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกผักอินทรีย์ บนพื้นที่ 58 ไร่ นางสาวนพคุณ เดชะผล อายุ 31 ปี ทำเกษตรบนพื้นที่ 16 ไร่ ในอำเภอทองแสนขัน เป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และนายสมชาย ใจแก้ว อายุ 42 ปี ปัจจุบันทำฟาร์มโคขุน และเลี้ยงแพะ โดยมีเป้าหมายที่จะทำไร่นาสวนผสม หรือเกษตรอัจฉริยะ โคก หนอง นา โมเดล ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรให้หันกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร และบุคคลทั่วไป ที่ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพในเมือง แต่มีพื้นที่พร้อมประกอบอาชีพเกษตรกรรม กลับมาพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมในบ้านเกิดตนเอง โดยมีหน่วยงานของภาครัฐและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำส่งเสริมในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่ยั่งยืน และครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากัน และเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 35 ราย ได้รับการพัฒนาด้านการประกอบอาชีพ จำนวน 7 ราย 3 สหกรณ์
สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513ปัจจุบันมีสมาชิก 9,910 คน ดำเนินธุรกิจ 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจแปรรูปผลิตผลการเกษตร และธุรกิจรับฝากเงินโดยมีแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มปริมาณการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้าคุณภาพตามมาตรฐาน GAPและส่งเสริมสมาชิกดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่
นาคา คะเลิศรัมย์/รายงาน