กาฬสินธุ์จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ เครือข่ายขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ

กาฬสินธุ์จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ
เครือข่ายขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณแก่สหกรณ์ดีเด่นประจำปี 2564

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์ จำกัด นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกรวยวางพานพุ่มสักการะต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และเป็นประธานเปิดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564 โดยมี พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงษ์ ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสดิษฐชัย หาญมนตรี สหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสุเนตร ทองคำ ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์ จำกัด นายแพทย์สมานมิตร อัฐนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จ พร้อมด้วยส่วนราชการ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานสหกรณ์และสมาชิกเครือข่ายสหกรณ์ ใน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมพิธีและวางพานพุ่มสักการะอย่างพร้อมเพรียง
พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงษ์ ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2564 นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพะกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” แล้ว ยังมีการมอบประกาศเกียรติคุณแก่สหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นประจำปี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ตระหนักคุณค่าและศรัทธาในระบบสหกรณ์ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

ด้านนายสดิษฐชัย หาญมนตรี สหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สหกรณ์ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของประชาชนในระดับฐานราก เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ เช่น การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การปกครองตนเองและความเสมอภาค ความร่วมมือระหว่างสมาชิก และความเอื้ออาทรต่อชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ความเป็นมาของวันสหกรณ์แห่งชาตินั้น ก่อตั้งโดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ขณะทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ทรงเล็งเห็นว่าการจะช่วยชาวนาให้พ้นจากภาวะหนี้สินได้ คือการจัดตั้งสหกรณ์ ทรงส่งเสริมให้มีการทดลองจัดต้องสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรก คือสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 โดยทรงดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสหกรณ์เป็นพระองค์แรกของประเทศไทย และทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ จนเป็นที่แพร่หลายและมั่นคงมาถึงปัจจุบัน
ขณะที่นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการของสมาชิกสหกรณ์ต่างๆ ภายใต้ระบบ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ทำให้สมาชิกสหกรณ์ ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีความเข้มแข็ง อยู่ได้ด้วยตนเอง มีสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดี กินดี และมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล