สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จับมือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิจัยสารทดแทนกำจัดศัตรูพืชนำร่องพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน
สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จับมือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิจัยสารทดแทนกำจัดศัตรูพืชนำร่องพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 นายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดการเสวนาในหัวข้อ “กลยุทธ์ในการกำจัดศัตรูพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยวิธีการทางชีวภาพ” โดยมี นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน ตัวแทนเกษตรกร ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ ณ ห้องประชุม สนอ.2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จากสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ลายจุด (Fall Armyworm) ในหลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานของประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดหวานอย่างมาก ประกอบกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้เลิกใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสารเคมีที่ยังมีความจำเป็นในการใช้กำจัดศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม เกษตรกรผู้เพาะปลูก และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำกัดศัตรูพืช และหาสารทดแทนอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาใช้ในการทำการเกษตรเพื่อลดความเสียหายจากการเลิกใช้สารเคมี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ใช้เกษตรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีความยินดี และพร้อมร่วมมือในการทำการวิจัยหาสารทดแทน สารเคมีที่ถูกยกเลิก ซึ่งทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีการเก็บรวบรวมเชื้อเชื้อจุลินทรีย์ที่สกัดจากพืช กว่า 1,000 สายพันธุ์ ซึ่งมีความสามารถในการกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ วัชพืช โรคพืช แมลง โดยทีมวิจัยจะร่วมนำจุลินทรีย์เข้าทดสอบในแปลงเกษตร เก็บข้อมูล และประเมินผล โดยอาศัยหลักการเกษตรปลอดภัย เพื่อเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
ด้านนายองอาจ เปิดเผยว่า ในนามประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรงในแง่ของปริมาณผลผลิตที่ลดลง และเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้น จึงได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีบุคคลากรและนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการทางชีวภาพ โดยจะทดลองนำสารสกัดและจุลินทรีย์จากพืช ที่ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการมาใช้จริงในแปลงเกษตรพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ของเกษตรกรใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และสุโขทัย ทั้งนี้จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2563 ระยะเวลาโครงการ 1 ปี หากผลการทดลองเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะมีการดำเนินการขยายผลต่อไปในอนาคต