อธิบดี พช. ปลื้ม ผู้ว่านราธิวาส น้อมนำแนวพระราชดำริฯ ปลูกผักสวนครัว รอบ 2 ปลูกผักสวนครัว พร้อมรณรงค์เชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ

อธิบดี พช. ปลื้ม ผู้ว่านราธิวาส น้อมนำแนวพระราชดำริฯ ปลูกผักสวนครัว รอบ 2 ปลูกผักสวนครัว พร้อมรณรงค์เชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

วันที่ 23 มีนาคม 2564 นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เยี่ยมชมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นางดาเรศ จิตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส ให้การต้อนรับเปิดบ้านพักให้เยี่ยมชมสวนเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 เปิดสวนหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน “ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน และเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ โดยมี นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส และนายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรม เข้าเยี่ยมชม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ภายในสวนมีพันธุ์พืชผักสวนครัวที่ปลูก อาทิ ชะอม พริก ตะไคร้ มะเขือ ตำลึง เป็นต้น ทั้งนี้มีการเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่จำนวนหลายตัวภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด

ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสได้ขับเคลื่อนการ “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (รอบ 2)” กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืน และเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ เป้าหมายดำเนินการในทุกหมู่บ้านทุกครัวเรือน มีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ 7 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 “ผู้นำต้นแบบ ตัวอย่างที่เห็นจริง” ให้มีการเชิญชวนผู้บริหารจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย นายอำเภอทุกอำเภอ กลุ่ม องค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนและอำเภอ ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย คนละ 10 ชนิด เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน พร้อมสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่านช่องทาง Social Media เป็นประจำทุกเดือน
ขั้นที่ 2 “ผู้นำต้องทำก่อน” รณรงค์เชิญชวนให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น กลุ่มองค์กร เครือข่าย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) สร้างกระแสการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่องในหลากหลายพื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน

ขั้นที่ 3 “นักพัฒนา 3 ประสานกลไก ขับเคลื่อนปฏิบัติการ 90 วัน” ดำเนินงานร่วมกับ อปท. สร้างทีมนักพัฒนา 3 ประสาน ในระดับตำบล เพื่อขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง
ขั้นที่ 4 “ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน” ร่วมรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รณรงค์คัดแยกขยะ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารเพื่อปรับปรุงดิน และเพิ่มผลผลผลิต อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านสร้างคลังอาหารชุมชน โดยใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกัน โดยเฉพาะผู้ยากไร้ และจัดตั้งศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
ขั้นที่ 5 “ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนไทย สร้างอาหารเป็น” ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกผัก
ขั้นที่ 6 “ถอดรหัสการพัฒนา ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” ร่วมประเมินผลการความสำเร็จของโครงการ พร้อมถอดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรม (1 อปท. 1 อำเภอ ต้นแบบ)
ขั้นที่ 7 “ติดตาม และขยายผลอย่างต่อเนื่อง” เพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

ในการนี้ จังหวัดนราธิวาส ได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในวงกว้าง เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วน พร้อมผลักดันแผนการส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวในทุกครัวเรือน สร้างชุมชนเข้มแข็งการพึ่งตนเองได้และเกิดความสามัคคีของคนในชุมชน และเพื่อเป็นการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้มีความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางอาหารได้ในที่สุด