พังงา- ครู นักเรียน ชาวบ้าน ร่วมลงแขกเก็บข้าวไร่ดอกข่า อนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่ พื้นถิ่นของจังหวัดพังงา
พังงา- ครู นักเรียน ชาวบ้าน ร่วมลงแขกเก็บข้าวไร่ดอกข่า อนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่ พื้นถิ่นของจังหวัดพังงา
วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ที่โรงเรียนบ้านตากแดด อ.เมืองพังงา น.ส.กนกพร คงยศ ผอ.โรงเรียนบ้านตากแดด นำคณะครู นักเรียน ร่วมกับชาวบ้านตำบลตากแดดและเครือข่าย สืบสานประเพณีลงแขกเก็บข้าวไร่ “พันธุ์ดอกข่า”ซึ่งข้าวไร่ชื่อดังของจังหวัดพังงา โดยบางคนใช้เคียว บางคนใช้แกะ(เครื่องมือเก็บข้าวประจำถิ่น) ส่วนเด็กๆก็ใช้กรรไกร ตัดเอาแต่รวงข้าวสุก ซึ่งทางโรงเรียนได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพังงา ลงแขกปลูกข้าวไร่พันธุ์ดอกข่าแบบไร้สารเคมีเป็นปีที่6ติดต่อกัน โดยใช้พื้นที่ว่างของโรงเรียนประมาณ 4 ไร่ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเมื่อเก็บข้าวไร่กันเสร็จกลุ่มชาวบ้านสาวๆ(รุ่นใหญ่)ที่พร้อมใจกันแต่งชุดคาวเกิร์ลมาร่วมกิจกรรมได้สาธิตการทำปี่ซังข้าวที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน แข่งกันเป่าว่าใครจะเป่าได้นานกว่ากัน ซึ่งได้สร้างเสียงหัวเราะและความสนุกสนานให้กับผู้ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก บางคนบอกว่าเป่าปี่ซังข้าวจนแทบหมดลมหายใจ
น.ส.กนกพร คงยศ เปิดเผยว่า “ข้าวดอกข่า”เป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองคุณภาพดีของจังหวัดพังงาซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(G.I.)เรียบร้อยแล้ว ปลูกมากใน ต.บางทอง อ.ท้ายเหมือง และ ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา
โดยการปลูกเสริมในแปลงสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำในช่วงที่ราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ขายเป็นข้าวสารได้ถึงกิโลกรัมละ60-80 บาท สำหรับลักษณะเด่นของข้าวไร่พันธุ์ดอกข่านั้น จะมีสีของเมล็ดข้าวสีน้ำตาลแดงอมม่วง เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นใบเตย ถ้าหุงในครัวกลิ่นจะหอมถึงหน้าบ้าน รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง หุงขึ้นหม้อ การทำโครงการปลูกข้าวไร่นี้ได้ทำต่อเนื่องมา6ปีติดต่อกัน มุ่งหวังให้เยาวชนรู้จักคุณค่าและสืบทอดการปลูกข้าวไร่ตามแบบบรรพบุรุษ ส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองของคนในชุมชน ด้วยการปลูกข้าวไว้กินเองตลอดปี นอกจากนั้นยังเป็นการจัดการเรียนการสอนร่วมกับชุมชน ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันของเยาวชนกับเยาวชน และเยาวชนกับผู้ใหญ่ในชุมชนอีกด้วย โดยโรงเรียนบ้านตากแดด ได้เลือกข้าวไร่ดอกข่า เป็นผลิตภัณฑ์ประจำโรงเรียนตามโครงการ 1 โรงเรียน 1 อาชีพ 1 ผลิตภัณฑ์ ในส่วนของผลผลิตนั้น จะมีการนำไปแปรรูปเป็นข้าวสารใช้ในโครงการอาหารกลางวันและจำหน่าย ส่วนหนึ่งจะมีการเก็บพันธุ์ข้าวไว้ปลูกในปีต่อไป