จ.ราชบุรี/เปิดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ”งานวัฒนธรรมแห่งปี ครั้งแรกในเมืองไทย…ณ วัดขนอน.หนังใหญ่.อ.โพธารามจ.ราชบุรี
จ.ราชบุรี/เปิดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ”งานวัฒนธรรมแห่งปี ครั้งแรกในเมืองไทย…ณ วัดขนอน.หนังใหญ่.อ.โพธารามจ.ราชบุรี
โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “๕ สายน้ำวัฒนธรรม แห่งลุ่มแม่น้ำภาคกลาง” พบกับนิทรรศการมีชีวิตของ ๕ ลุ่มแม่น้ำ การเสวนา การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน เวิร์คชอป และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น จัดขึ้น ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นี้ ณ วัดขนอนหนังใหญ่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคกลาง จัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” เป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ได้นำเสนอเรื่องราวมมรดกวัฒนธรรมในภาคกลาง จัดงาน ณ วัดขนอน เพื่อให้นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป และคนรุ่นใหม่ ได้มาสัมผัสเรื่องราวที่ก่อกำเนิดจากความตั้งใจของคนทำพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ความรักและเวลาในการสั่งสม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ วัตถุทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เหล่านี้พร้อมจะถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต สำหรับงานครั้งนี้มีพิพิธภัณฑ์ ๓๐ แห่งในภาคกลาง มาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นผ่านนิทรรศการและกิจกรรมการสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งมีกำหนดจัดงานนี้ขึ้น ระหว่าง ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นี้ ณ วัดขนอนหนังใหญ่ อำเภอ โพธาราม จังหวัดราชบุรี
ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมบนเวที และเสวนาที่น่าสนใจ เช่น “เรื่องเล่าจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กับภาพสะท้อนย้อนรอยประเพณีวิถีและวัฒนธรรมชุมชน ๕ ลุ่มน้ำในภาคกลาง” ฟังประวัติศาสตร์และวัฒนธรมของชุมชนในลุ่มแม่น้ำในภาคกลางที่ประกอบด้วยแม่น้ำสายสำคัญ ๕ สาย ที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีความสำคัญมายาวนาน อิทธิพลของ “สายน้ำ” ที่มีต่อวิถีชีวิตผู้คนในลุ่มแม่น้ำภาคกลาง และพัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน เสวนาเรื่อง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะอยู่อย่างไร ในอนาคต และเสวนาเรื่อง : เจาะลึก ทวาราวดีในแดนสยาม “ถิ่น …ทวาราวดีภาคกลาง สู่สยามประเทศ” ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการจัดงานคาดหวังว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะได้รับโอกาสที่ดีเข้ามาศึกษาเรียนรู้คุณค่าทางวัฒนธรรม และสัมผัสเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด เกิดความตระหนักและหวงแหนในคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของตนเอง โดยผ่านรูปแบบนิทรรศการ กิจกรรมการสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายจากงานครั้งนี้ด้วย
“ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและเสริมพลังเครือข่าย รวมถึงสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของเครือข่ายให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ “เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” สามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง และพยายามเปิดพื้นที่ให้คนทำพิพิธภัณฑ์ได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย คาดหวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชาวเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง ที่จะจับมือกันร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ยั่งยืนในอนาคตต่อไป” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว
ด้าน พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในฐานะประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน “มหกรรมมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” ทางคณะผู้จัดงานฯ ได้พยายามนำเสนอรูปแบบการจัดงานอย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เนื่องด้วยเสน่ห์ของความเป็นภาคกลาง มีวัฒนธรรมที่หลากหลายทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ และขนบธรรมเนียมประเพณี วัตถุวัฒนธรรม ชาติพันธุ์และวิถีชีวิตชุมชน เป็นต้น ต่างก็ล้วนมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นคลังความรู้มีคุณค่าควรแก่การศึกษา เรามีพิพิธภัณฑ์ในภาคกลางที่เป็นเครือข่าย ๓๐ แห่ง ในพื้นที่ ๑๔ จังหวัด แบ่งออกเป็น ๕ ลุ่มน้ำ ดังนี้
• แม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มแม่น้ำที่เสมือนเป็นสายเลือดหลัก ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย ๑.พิพิธภัณฑ์จันเสน (นครสวรรค์) ๒.พิพิธภัณฑ์เรือไทย (พระนครศรีอยุธยา) ๓.พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร (กรุงเทพฯ) ๔.บ้านหัตถกรรม ศิลป์สร้างสุข (กรุงเทพฯ) ๕.พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านกวานอาม่าน (นนทบุรี) ๖.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านขุนสมุทรจีน (สมุทรปราการ)
• แม่น้ำป่าสัก – ลพบุรี สายน้ำที่เรียงร้อยด้วยเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ทั้งอาหาร พิธีกรรมความเชื่อ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวน ประกอบด้วย ๑.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง (นครนายก) ๒.พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านดงกระทงยาม (ปราจีนบุรี) ๓.พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย (ลพบุรี) ๔.พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านหลุมข้าว (ลพบุรี)
• แม่น้ำแม่กลอง อีกหนึ่งสายน้ำที่หลากหลายด้วยเรื่องความเชื่อทางศาสนา เอกลักษณ์ทางศิลปกรรม ภูมิปัญญาการทอผ้าและวิถีชีวิตชุมชน ประกอบด้วย ๑. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาว (กาญจนบุรี) ๒. พิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง (ราชบุรี) ๓.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม (ราชบุรี) ๔.จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว (ราชบุรี) ๕.พิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ (สมุทรสงคราม) ๖.เบญจมราชูทิศ พิพิธภัณฑ์ (ราชบุรี) ๗. พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน (ราชบุรี) ๘.กลุ่มศิลปินลุ่มน้ำแม่กลองศูนย์การเรียนรู้งานศิลปะ
• แม่น้ำท่าจีน ลุ่มน้ำที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวิถีชีวิตชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในอดีตที่หลากหลาย ประกอบด้วย ๑. ศูนย์ฟื้นฟูไตดำโบราณ (สุพรรณบุรี) ๒.บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดบางหลวง (นครปฐม) ๓.พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทยบ้านลานแหลม (นครปฐม) ๔.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง (นครปฐม) ๕. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนคลองผีเสื้อ (นครปฐม) ๖.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด (นครปฐม) ๗. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยตะโก (นครปฐม)
• แม่น้ำเพชรบุรี เรื่องราวชาติพันธุ์วิถีชีวิตไทยทรงดำ กลุ่มคนอนุรักษ์ผ้า และสะสมของโบราณที่เป็นสมบัติของเมืองเพชร ประกอบด้วย ๑. ศูนย์เรียนรู้กลุ่มสไบมอญ-บางลำภู (เพชรบุรี) ๒.บ้านชะอาน (เพชรบุรี) ๓.พิพิธภัณฑ์ปานถนอม (เพชรบุรี) ๔.สมบัติลุ่มแม่น้ำเพชร (เพชรบุรี) ๕.ศูนย์เรียนรู้เพื่อนศิลป์ ดินไอเดีย (เพชรบุรี)
งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” จัดขึ้นระหว่าง ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ณ วัดขนอนหนังใหญ่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีกิจกรรมและ ไฮไลท์สำคัญที่น่าสนใจ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์ ๕ ลุ่มแม่น้ำภาคกลาง การเสวนาทางวัฒนธรรมและวิชาการ การสาธิต และการแสดงทางวัฒนธรรมของชุมชนแต่ละท้องถิ่น รวมถึงกิจกรรม Work Shop และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ตลอดระยะเวลา ๓ วันของการจัดงาน (ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุริสา อาศุศิริ โทร.๐๙๒ ๖๐๕ ๖๔๔๕ หรือติดตามได้ที่ Facebook : เพจมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง
สุพจน์ วรสหวัฒน์จ.ราชบุรี/รายงาน