นายกฯเป็นประธานการประชุม ครม.ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ
นายกฯเป็นประธานการประชุม ครม.ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
สำหรับภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/รม.กลาโหม/ผอ.กอ.รมน.ราชอาณาจักรและคณะรัฐมนตรีในวันที่ 21 ม.ค.2563 นี้โดยในช่วงเวลาประมาณ 08.00 น.นายกรัฐมนตรีได้พบปะนักเรียน นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมกับเยี่ยมชมนิทรรศการของนักศึกษาแต่ละคณะฯ ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) ที่ห้องประชุมของอาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
โดยวาระการประชุมเป็นการติดตามโครงการสำคัญที่ดำเนินการในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้แก่ โครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส โดยจัดซื้อที่ดินเอกชนเพื่อดำเนินงาน และให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดซื้อที่ดินเอกชน (บริษัท สวนยางไทย จำกัด) สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ภายใต้วงเงิน 395,000,000 บาท
ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่า จำนวน 600 ไร่ โฉนดเลขที่ 7 เลขที่ดิน 501 ในพื้นที่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ และให้เอกชนเช่าโดยกรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนบนเนื้อที่รวม 1,003-1-30.2 ไร่ และเป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ของทางราชการรวม 79-3-44 ไร่
ส่วนการจัดหาที่ดินพื่อโครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง เป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะพัฒนาเป็น “ศูนย์โลจีสติกส์และการเที่ยวเที่ยวเชิงนิเวศน์” โดย อ.แว้งมีด่านศุลกากรบูเก๊ะตา เป็นพื้นที่ติดต่อกับด่านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยกระทรวงมหาดไทยประกาศเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร สามารถสัญจรผ่านทางสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เชื่อมบ้านบูเก๊ะตา ประเทศไทย และบูกิตบุหงา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งด่านทั้งสองฝั่งเปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. โดยปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาด่านบูเก๊ะตาระยะที่ 1, 2 และ 3 แล้วเสร็จ และเป้าหมายต่อไป คือ การพัฒนาด่านบูเก๊ะตาระยะที่ 4 ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ศึกษาและออกแบบก่อสร้างตามรายการต่าง ๆ ไว้แล้วเสร็จเมื่อปี 2554 ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการในรูปแบบ “การเปิดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)” แต่ปัญหาสำคัญของด่านบูเก๊ะตา คือ มีที่ดินของเอกชนอยู่ระหว่างด่านกับชายแดนและที่ดินด่านเดิมมีพื้นที่เพียง 49 ไร่ เท่านั้น จึงจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินเอกชน ซึ่งขณะนี้กรมที่ดินได้ดำเนินการเดินสำรวจและรังวัดที่ดินแล้วเสร็จจำนวน 199 แปลง เนื้อที่ 261 ไร่ 1 งาน 67.2 ตารางวา และออกเอกสารโฉนดที่ดินพร้อมแจกจ่ายให้ราษฎรเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562
สำหรับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (ปี2560 – 2563) โดย จ.นราธิวาสได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงและยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก งบประมาณ 31.2000 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 โครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า งบประมาณ 707.2230 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนและเพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายด้านการขนส่งสินค้าที่สามารถลดต้นทุนด้านการขนส่ง พร้อมทั้งเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งได้อย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยจังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 2 จังหวัดในภาคใต้ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการรวบรวม กระจายสินค้า เปลี่ยนถ่ายการขนส่งกับระบบรางและรองรับการอานวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน เส้นทางขนส่งหลัก : กลันตัน (มาเลเซีย) –ตากใบ-นราธิวาส-กทม.-ท่าเรือแหลมฉบัง มีเนื้อที่ จำนวน 76 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 4046 ต.สุไหงโก-ลก รวมทั้งโครงการซ่อมแซมเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก ระยะทาง 7.325 กิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่
โดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำจากแม่น้ำโก-ลก ไหลข้ามคันกั้นน้ำเข้ามาท่วมพื้นที่ตามที่ราษฎรในพื้นที่ร้องขอ โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทั้งเสริมระดับคันกั้นน้ำพร้อมขยายผิวการจราจร เสริมอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง
ปรับปรุงท่อระบายน้ำประกอบคันกั้นน้ำ จำนวน 8 แห่ง
งบประมาณรวม79,935,300 บาท ซึ่งจากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2559 ไม่เกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง แม้ว่าปริมาณน้ำฝนจะ สูงกว่าเมื่อปี 2557 ก็ตาม
ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 1/2563 โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเสนอขออนุมัติ เป็นแพ็คเกจใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการร้านค้าปลอดอากร โดยให้คนไทยที่มีบัตรประชาชนมีสิทธิ์ซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากร (duty free) ที่ตั้งในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวได้ในวงเงิน 20,000 บาท ในระยะ 30 วัน โดยได้รับยกเว้นภาษี และอากรศุลกากร แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% โดยไม่ต้องข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ของประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในพื้นที่ 3 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในช่วงท้ายสุดของ ครม.สัญจรในครั้งนี้