กมธ.การพลังงาน วุฒิสภา ศึกษาดูงานเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน

กมธ.การพลังงาน วุฒิสภา ศึกษาดูงานเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดนครนายก

วันที่ 19 กันยายน 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน หรือเครื่องโทคาแมค ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดนครนายก
.
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน เป็นพลังงานรูปแบบใหม่ที่หลาย ๆ ประเทศมุ่งหวังว่าจะเป็นพลังงานสะอาดที่เข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยองค์ประกอบของพลังงานชนิดนี้เป็นพลังงานสะอาดไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีความปลอดภัยในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นพลังงานแห่งอนาคต แต่เทคโนโลยีฟิวชันเกิดขึ้นได้ยากมาก ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยแนวโน้มในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างยั่งยืน เทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้งานในด้านต่าง ๆ มากมาย ทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งในด้านพลังงาน เกษตร อาหาร การแพทย์ อุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม

.
สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน หรือเครื่องโทคาแมค ซึ่งประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน ได้มอบเครื่องโทคาแมคและนำมาติดตั้งในประเทศไทย และเริ่มต้นเดินเครื่องในปี 2566 เครื่องโทคาแมคที่พัฒนาขึ้น จะมีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ TT-1 เมื่อเดินเครื่องแล้ว คาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนองศาเซลเซียส และสถาบันฯ มีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1 ล้านองศาเซลเซียส และในอนาคตจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นเอง โดยจะใช้เทคโนโลยี Superconducting magnet ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10 ล้านองศาเซลเซียสได้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต