กมธ.พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา จัดสัมมนา “พัฒนาการภาคประชาสังคม : ก้าวย่างสำหรับอนาคต”

กมธ.พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา จัดสัมมนา “พัฒนาการภาคประชาสังคม : ก้าวย่างสำหรับอนาคต” ส่งเสริมภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งเพื่อร่วมพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย ในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “พัฒนาการภาคประชาสังคม : ก้าวย่างสำหรับอนาคต” โดยมี นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นายอำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มุมมองต่อภาคประชาสังคม” และมีคณะกรรมาธิการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน
.
นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมได้ให้ความสำคัญกับความท้าทายทางสังคมมากขึ้น มีการบูรณาการ มีกรอบความร่วมมือกันมากขึ้น ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การรวมกลุ่มเป็นองค์กรภาคประชาสังคมมีทั้งภาคธุรกิจ นักวิชาการ ชาวบ้าน เพื่อทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มร่วมกับภาครัฐ ดังนั้น องค์กรภาคประชาสังคมจังเป็นกำลังสำคัญหนึ่งที่ดีในการช่วยสนับสนุนภารกิจของรัฐในการพัฒนาและดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงควรมีนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมมีศักยภาพและมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนาประเทศได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมต้องให้ความสำคัญกับการปรับบทบาทของตนเองให้ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองและสังคมโลก รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันที่หลากหลายยิ่งขึ้น

.
นายอำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันไม่มีรกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการในรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมในระดับประเทศ โดยกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาให้เกิดระบบและกลไกทางนโยบาย กฎหมาย และกลไกทางสังคมอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งในการทำงาน ตลอดจนสามารถเข้าถึงทรัพยากรในการทำงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และต่อยอดการทำงานในระยะยาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การตอบสนองต่อปัญหาที่ซับซ้อน และนำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
.
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1) พัฒนาการประชาสังคมในประเทศไทยโดยสังเขป 2) สถานการณ์สภาองค์กรชุมชน : อดีต ปัจจุบัน อนาคต 3) วิสาหกิจเพื่อสังคม : กลไกส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม และ 4) การส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม “ถอดบทเรียนการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม : ข้อเสนอสำหรับอนาคต”