พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 ทอดถวาย ณ วัดชลธาราสิงเห
นราธิวาส/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 ทอดถวาย ณ วัดชลธาราสิงเห
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทาน ทอดถวาย ณ วัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวง ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เป็นผู้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายพระสงฆ์จำพรรษาถ้วนไตรมาส โดยมีพระครูโอภาสชลธาร เจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายทศพล สวัสดิสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พลตำรวจเอก วินัย ทองสอง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนายตำรวจราชสำนัก อดีตรองจเรตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า แม่ค้า ผู้มีจิตศรัทธา ตลอดจนพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
สำหรับยอดกฐินเพื่อถวายพระภิกษุ สามเณร และถวายจตุปัจจัยบำรุงพระอารามหลวง มียอดรวมทั้งสิ้น 1,473,700 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษากาลครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย ในการนี้วัดจะนำไปทำนุบำรุง บูรปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่ชำรุดเสียหายภายในวัด สืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีในพระพุทธศาสนา ตลอดจนเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ อันเป็นการปฏิบัติตามประเพณีในพุทธบัญญัติ ที่ถือได้ว่าเป็นกาลทานมีผลอานิสงค์มากให้มีความเจริญรุ่งเรืองงดงาม และเป็นศูนย์รวมจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้วัดชลธาราสิงเห หรือ วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญของจังหวัดนราธิวาส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2403 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยวัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี 2441 ที่มีผลให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ต้องผนวกเป็นประเทศมาเลเซีย จึงได้รับสมญานามว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย วัดดังกล่าวยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทย มีจุดเด่นของอาคารสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม จีนเข้าด้วยกัน และมีความสำคัญในการกำหนดเขตแดนของประเทศไทยในเขตอำเภอตากใบ และใกล้เคียง รวมทั้งชาวมาเลเซีย ในสมัยพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”