กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 3 ในการขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้/ปลูกป่า เพื่อขายคาร์บอนเครดิตที่เป็นรูปธรรม
กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 3 ในการขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้/ปลูกป่า เพื่อขายคาร์บอนเครดิตที่เป็นรูปธรรม
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม หมายเลข 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกับมูลมูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) จัดสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 3 สมัชชาเฉพาะประเด็น การปลูกต้นไม้/ปลูกป่า ขายคาร์บอนเครดิต โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขายคาร์บอนเครดิตจากการปลูกต้นไม้ และปลูกป่า : โอกาสและความท้าทาย” นายอำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะทำงานโครงการสมัชชาปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวรายงาน และมีสมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วม
.
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ NDC ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมสาขาพลังงาน คมนาขนส่ง อุตสาหกรรม และการจัดการของเสียให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 ซึ่งโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนาขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต (T-VERs) ไปขายได้ในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ
.
โอกาสนี้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ” ๙ กรณี เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติหน่วยงาน องค์กร ชุมชน คณะบุคคล บุคคลที่ทำงานการปลูกต้นไม้ มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างเสริมกำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดี ประกอบด้วย 1. กรณีสวนป่าชุมชนรักษ์นิเวศ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 2. กรณีปลุกต้นไม้สร้างชุมชนท้องถิ่นสีเขียว โดยกลุ่มรักษ์นางรองสีเขียวยั่งยืน 3. กรณีป่าในกรุง ถุงลมคนกรุง โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. 4. กรณีรักษ์ป่าชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน และเพื่อโลก โดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนป่าดงภู อละศูนย์ป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ 5. กรณีปลูกป่าเขาพระยาเดินธงด้วยพลังประชารัฐ โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 6. กรณีบัณฑิตคืนถิ่น ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน โดยมูลนิธิบัณฑิตคืนถิ่น ดร.สมหมาย วันสอน 7. กรณีปลูกต้นไม้ริมทาง สร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อแผ่นดิน โดยหมวดทางหลวงหนองฉางและหมวดทางหลวงลานสัก (แขวงทางหลวงอุทัยธานี) และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ 8. กรณีสร้างสวนป่า สร้างเมืองน่าอยู่ โดยเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านขับเคลื่อนบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่ และ 9. กรณีป่าสมุนไพรไทย : อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล
.
สำหรับการประชุมสมัชชาเฉพาะประเด็น การปลูกต้นไม้/ปลูกป่า ขายคาร์บอนเครดิต มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจนได้ข้อเสนอนโยบายและแนวทาง การขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้/ปลูกป่า เพื่อขายคาร์บอนเครดิตที่เป็นรูปธรรมและพัฒนาต่อเนื่องได้ รวมทั้งขยายการ ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้เกิดการสานพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ ในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สร้างสังคม และคุณภาพชีวิต