” ระดมสมอง ” รองแม่ทัพภาคที่ 3 พร้อม อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าฯ เชียงราย จิตอาสา หารือวางยุทธวิถีดับไฟป่า เขตขยันแห่งชาติลำน้ำกก
” ระดมสมอง ” รองแม่ทัพภาคที่ 3 พร้อม อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าฯ เชียงราย จิตอาสา หารือวางยุทธวิถีดับไฟป่า เขตขยันแห่งชาติลำน้ำกก
พลตรี จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาภาค 3 พร้อมด้วย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัดเชียงราย และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมประชุมศูนย์อำนวยการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดเชียงราย เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 16 เมษายน 2562 ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงราย ศาลาลิ่มเจริญ วัดป่าตึง หมู่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กำลังพลจิตอาสาทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และผู้นำจิตอาสาเข้าร่วมประชุมหารือรับมือสถานการณ์สร้างกลยุทธ์ในการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก ดอยจระเข้า อำเภอแม่จัน เพื่อรายงานสถานการณ์ ตรวจสอบยอดกำลังของหน่วยต่าง ๆ และยุทธวิธีที่จะดับไฟป่าให้ดับสนิท และการลดการสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดทั้งสภาพแวดล้อมรอบจุดเกิดไฟป่า
ซึ่งการปฏิบัติการพิชิตหมอกควันและไฟป่าจากการเกิดไฟป่าในพื้นที่ดอยจระเข้า อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อเย็นของวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย นำโดยนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมรวบรวมสถานการณ์และประสานบูรณาการดับไฟป่าในพื้นที่ที่มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งในช่วงเวลานี้ในพื้นที่สถานการณ์ มีจุด hot spot จำนวนมาก เมื่อเกิดไฟป่าจึงลุกลามด้วยความรุนแรง ทำการดับได้ยากและซับซ้อน ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดทั้งอากาศยานเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย ลักษณะของการเกิดไฟป่าในรั้งนี้ เสมือนเป็นงูไฟที่เลื้อยไปตามเทือกเขา หากดับไม่สนิท ก็อาจติดซ้ำขึ้นมาได้อีก และจะทำให้ยุ่งยากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีความซับซ้อนที่ทำให้ลุกลามไปยังพื้นที่ต่อเนื่องได้ด้วย ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นวิกฤติสาธารณะที่ทุกฝ่ายต้องใช้เป็นโอกาสในการสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตลอดทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ จึงตั้งศูนย์อำนวยการร่วมในพื้นที่เกิดภัย ที่วัดป่าตึง หมู่ที่ 7 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อใช้ประสานการปฏิบัติและบัญชากาเหตุการณ์ไปกระทั่งสถานการณ์จะยุติลง และสามารถนำประสบการณ์ไปถอดบทเรียน ให้นำไปสู่การวางแผนรับมือในอนาคต รวมทั้ง ร่วมกันพิจารณาแสวงหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบจากตัวแปรและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อีกทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานโรงครัวพระราชทาน จาก มณฑลทหารบกที่ 37 มาให้การสนับสนุนด้านเสบียงอาหาร และยังได้มีประชาชนมาร่วมบริจาคน้ำดื่มและอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง
ในการประชุม ที่ประชุมยังได้ประเมินผลการปฏิบัติที่ผ่านมาสามารถควบคุมไฟป่าได้ร้อยละ 90 และอยู่ในระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์ในจุดที่ยังดับไฟไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดอับและมีความลาดชันสูงการเข้าถึงของชุดปฏิบัติการเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมทั้งจุดที่ยังดับไฟไม่สนิท ซึ่งมีการใช้อากาศยานทิ้งน้ำดับไฟจาก ฮท MI 17 และ ฮท. 212 หากสภาพอากาศเปิดและเหมาะสมกับการโปรยน้ำทางอากาศ ทั้งนี้ ยังมีการใช้อากาศยาน ฮ ทส 350 บินตรวจสอบชี้เป้าและบรรทุกน้ำเพื่อโปรยในจุดที่ยังมีการลุกไหม้ของไฟป่าอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายยังได้สั่งการให้เพิ่มจุดสำคัญในการจัดทำแนวกันไฟตามพระราชดำริ ที่ หมู่ 7 บ้านตาดทอง ตำบลป่าตึง แนวกันไฟที่ หมู่ 12 ตำบลแม่จัน และแนวกันไฟ หมู่ 5 ตำบลแม่จัน รวมทั้งแนวกันไฟ หมู่ 11 ตำบลแม่จัน พร้อมย้ำให้การจัดทำแนวกันไฟในทุกพื้นที่ให้เหมาะสม และเอื้อต่อประสิทธิภาพในการตัดเส้นทางการลุกไหม้ของไฟป่า ในการประชุมได้กำชับให้จัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เพื่อใช้กำลังหลักในการสนับสนุนการดับไฟป่าและการจัดทำแนวกันไฟในจุดเสี่ยงต่าง ๆ และให้จิตอาสาพระราชทานร่วมสนับสนุนการดำเนินงานในจุดต่าง ๆ ที่เป็นจุดที่ปลอดภัยและจำเป็นต้องใช้กำลัง รวมทั้งระดมกำลังจากนอกพื้นที่เข้ามาสับเปลี่ยนสนับสนุนการปฏิบัติการอีกด้วย
ขอบคุณภาพจาก หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 2 และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย