อลงกรณ์”ตั้งเป้าปั้นเมืองคอนเป็นฮับมังคุด เร่งพัฒนาแปลงใหญ่ขยายGAP ดึงสหกรณ์และบริษัทไปรษณีย์ไทยร่วมขับเคลื่อนเพิ่มช่องตลาดออนไลน์ขายล่วงหน้า
“อลงกรณ์”ตั้งเป้าปั้นเมืองคอนเป็นฮับมังคุด เร่งพัฒนาแปลงใหญ่ขยายGAP ดึงสหกรณ์และบริษัทไปรษณีย์ไทยร่วมขับเคลื่อนเพิ่มช่องตลาดออนไลน์ขายล่วงหน้า
วันนี้ ( 16 ก.พ.65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ แปลงใหญ่มังคุด ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช (วิสาหกิจชุมชนคัดคุณภาพมังคุดบ้านศาลาใหม่) เพื่อตรวจเยี่ยมและรับทราบปัญหาจากเกษตรกรผู้ผลิตมังคุดในพื้นที่ โดยมี นายเกรียงศักดิ์ รักษ์สีทอง นายอำเภอพรหมบุรี กล่าวต้อนรับ นายอุดมเกียรติ เกิดสม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่มังคุด ต.นาเรียง ร่วมให้การต้อนรับ มีนางพัลวลี ภูมาวงค์ ประธานแปลงใหญ่ แปลงใหญ่มังคุด ต.นาเรียง เป็นผู้รายงานข้อมูลผลการดำเนินงานและสถานการณ์ปัญหา แปลงใหญ่มังคุด ต.นาเรียง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 มีสมาชิก จำนวน 42 ราย มีพื้นที่ 343 ไร่ ปริมาณผลผลิตมังคุด เมื่อปี 2563 ประมาณ 103 ตัน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ปัญหาราคาผลผลิตมังคุดตกต่ำ การขาดเงินทุน อุปกรณ์ และโรงเรือนแปรรูปผลผลิต การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวและคัดเกรดผลผลิตมังคุด ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้ให้แนวการการขับเคลื่อนและการสนับสนุนแปลงใหญ่ตามนโยบายการส่งเสริมการผลิตแปลงใหญ่ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพัฒนายกระดับแปลงใหญ่ให้เป็น Start Up หรือ SMEs เกษตร การจัดอบรมผู้นำและสมาชิกแปลงใหญ่ให้เป็นผู้ประกอบการ เพื่อทำการเกษตรสู่การเป็นเกษตรมูลค่าสูง การรักษาคุณภาพมังคุดและปรับระบบการขนส่งผ่านระบบ Cold Chain การศึกษาวิจัยและพัฒนามังคุด โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ด้านการแปรรูป การสกัดสารสำคัญจากมังคุด เพื่อมุ่งสู่การทำเกษตรมูลค่าสูง
จากนั้นนายอลงกรณ์ ได้เดินทางมายัง ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านภาคการเกษตรทั้งระบบของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ได้มอบหมายให้ นาย ไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้การต้อนรับ และร่วมประชุม พร้อมด้วยนายอยุทธ์ เชาวลิต รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช นางเอกอนงค์ บัวมาศ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้รายงานสรุปแนวทางการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
(1)การบริหารจัดการเกษตรและอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานครบวงจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(2)การพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานธรรมะ ธรรมชาติ และศิลปะวัฒนธรรม
(3)การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
(4)การพัฒนาคน ชุมชน สังคมให้น่าอยู่ และเข้มแข็งตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(5)การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย
(6)การส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
การรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2565 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผลผลิตผลไม้ 4 ชนิด (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และการพิจารณาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านภาคการเกษตรทั้งระบบของจังหวัดนครศรีธรรมราช (การบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ) เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาผลผลิตที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก 89,265 ไร่ ผลผลิต(คาดคะเนสถานการณ์ ปี 2565 ) จำนวน 69,182 ตัน มังคุด พื้นที่ปลูก 96,620 ไร่ ผลผลิต จำนวน 66,919 ตัน เงาะ พื้นที่ปลูก 12,845 ไร่ ผลผลิต จำนวน 8,870 ตัน และลองกอง พื้นที่ปลูก 14,566 ไร่ ผลผลิต จำนวน 4,350 ตัน ซึ่งมีการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู ส่งเสริมการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP ในการรับรองมาตรฐาน GAP มีแผนการดำเนินงาน ปี 2565 จำนวน 1,458 แปลง ได้แก่ ทุเรียน 605 แปลง มังคุด 547แปลง มะพร้าว 112 แปลง ส้มโอ 92 แปลง โกโก้ 40 แปลง สละ 34 แปลง เงาะ 20 แปลง ลองกอง 4 แปลงฝรั่ง 4 แปลง จำนวนแปลงสะสมทั้งหมด ปี 2547-2565 จำนวน 12,576 แปลง 11,125 ราย 57,277.3968 ไร่ มีแผนการบริหารจัดการการผลิต การพัฒนาองค์กรเกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกร การจัดการด้านการตลาดและโลจิสติกส์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในการอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการด้านการตลาดออนไลน์ และการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลผลิตมังคุด ปี 2565 ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำการเร่งรัดการออกใบรับรอง GAP พื้นที่อำเภอนบพิตำ ให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด การพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น hub มังคุด (ภาคใต้ตอนกลาง) การเพิ่มช่องทางการตลาด โดยการทำตลาดออนไลน์ การขายออนไลน์ล่วงหน้า การสั่งซื้อล่วงหน้า การขายผ่านระบบสหกรณ์ หรือบริษัทไปรษณีย์ไทย และเน้นย้ำการทำงานล่วงหน้าเชิงรุก ตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ฤดูกาลผลิตต่อไป.