สสก. 6 จ เชียงใหม่ แจ้งเตือนเกษตรกรเรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ไม่ได้กินแต่ข้าวโพด ยังกินพืชอื่นอีกมากมาย
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเตือนเกษตรกรเรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ไม่ได้กินแต่ข้าวโพด ยังกินพืชอื่นอีกมากมาย
นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm : FAW) ในแปลงปลูกข้าวโพดของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวโพดของประเทศไทยหลายจังหวัด โดยวงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดหนึ่งรอบวงจรชีวิต ใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100 – 200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2-4.0 ซม. หนอนจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10-21 วัน ตัวเต็มวัยสามารถบินได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน
ลักษณะการเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น หนอนจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืชจะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73% ของพื้นที่
พืชอาหารของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด นอกจากข้าวโพดซึ่งเป็นพืชอาหารหลักแล้ว ยังมีพืชอาหารอื่นๆอีกมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยำสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันหวาน พริกหยวก พืชวงศ์กะหล่ำ พืชวงศ์แตง พืชวงศ์ถั่ว พืชวงศ์หญ้า และพืชผักอีกหลายชนิด
ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกพืชที่จัดอยู่ในชนิดพืชอาหารของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดดังกล่าว ประกอบกับในระยะนี้ข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ส่วนใหญ่อายุประมาณ 60 วัน ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า และเกรงว่าหลังจากที่หมดฤดูข้าวโพดแล้ว หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะเข้าทำลายพืชอาหารชนิดอื่นที่เกษตรกรปลูก โดยเฉพาะพืชวงศ์หญ้าที่มีโครงสร้างทางสัณฐานวิทยาของลำต้นและใบคล้ายกับข้าวโพด เช่น ข้าว อ้อย เป็นต้น
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm; FAW) หากพบการทำลาย 20% ในข้าวโพดต้นอ่อน (7-60 วัน) และ 40% ในข้าวโพดต้นแก่ (60 วัน – เก็บเกี่ยวผลผลิต) ให้ดำเนินการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
– การใช้สารเคมี ได้แก่ สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% SC อัตตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นสารกำจัดแมลงทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงรอบชีวิต) เพื่อลดความต้านทาน
– การใช้ชีววิธี ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเจนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ ชนิดผง อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด หรือปล่อยแมลงหางหนีบ มวนพิฆาต และมวนเพชฌฆาต
– การใช้วิธีกล เช่น เก็บกลุ่มไข่หนอนบี้ทำลาย ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80 กับดักต่อไร่ เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ปลูกพืชที่จัดอยู่ในพืชอาหารดังกล่าว เฝ้าระวังพืชที่ปลูกอย่างใกล้ชิด และหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ให้รีบกำจัดหรือแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ด่วน เพื่อที่จะได้ดำเนินการสนับสนุนในการป้องกันกำจัดต่อไป.
ทรงวุฒิ ทับทอง รายงาน