กสร. มุ่งแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกลดปัญหาการเลิกจ้าง และข้อพิพาทแรงงาน

กสร. มุ่งแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกลดปัญหาการเลิกจ้าง และข้อพิพาทแรงงาน

—————————————————-

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขานรับนโยบายลดปัญหาการเลิกจ้าง และข้อพิพาทแรงงาน ในช่วงภาวะวิกฤติ COVID – 19 นำระบบการบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกป้อนสถานประกอบกิจการ ผ่านกลไกศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ระดับภูมิภาค

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Disruptive Technology) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานตามโลกยุคดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งกระทบต่อการบริหารกิจการของนายจ้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของลูกจ้างอย่างรุนแรง มีการเลิกจ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจ้างงานที่มีแนวโน้มมีความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมอบนโยบายส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้าง โดยใช้มาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ให้การเลิกจ้างลูกจ้างเป็นหนทางสุดท้าย รวมทั้งเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงาน

ทำให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาในสถานประกอบกิจการด้วยระบบทวิภาคี โดยใช้หลักสุจริตใจในการปรึกษาหารือร่วมกัน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงหากเกิดผลกระทบจากปัญหาข้อขัดแย้งและการเลิกจ้าง

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ระดับภูมิภาค เพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างภาคีเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรแรงงานในสถานประกอบกิจการให้รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคี เพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ มีความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสืบไป