รมว.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างร้องเรียนผ่านโซเชียล กรณีนายจ้างเรียกเก็บค่าเดินทางมาทำงาน และสภาพการจ้างไม่เป็นไปตามข้อตกลง
รมว.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างร้องเรียนผ่านโซเชียล
กรณีนายจ้างเรียกเก็บค่าเดินทางมาทำงาน และสภาพการจ้างไม่เป็นไปตามข้อตกลง
————————–
รมว.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้าง กรณีลูกจ้างร้องเรียนผ่าน Facebook เนื่องจากนายจ้างเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงาน และสภาพการจ้างไม่เป็นไปตามข้อตกลง สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการช่วยเหลือทันที
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีลูกจ้างร้องเรียนผ่าน Facebook ของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากลูกจ้างสมัครเข้าไปทำงานที่สวนทุเรียน จังหวัดพิจิตร แล้วถูกนายจ้างเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน และสภาพการจ้างงานไม่เป็นไปตามข้อตกลงนั้น กระทรวงแรงงาน ได้รับทราบข้อร้องเรียนดังกล่าว และได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่พร้อมด้วยสำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตร และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิจิตร เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างทันที โดยพบว่า ลูกจ้างผู้ร้องเรียนได้ติดต่อสมัครงานทาง facebook และได้รับการติดต่อจากนายจ้างโดยเสนองานให้ไปทำที่สวนทุเรียน จังหวัดพิจิตร ซึ่งนายจ้างได้เดินทางไปรับลูกจ้าง และครอบครัวที่จังหวัดระยอง ในระหว่างการเดินทาง นายจ้างได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 5,000 บาท แต่ลูกจ้างมิได้ตอบตกลงหรือปฏิเสธแต่อย่างใด เมื่อได้มีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการจ้างงาน นายจ้างแจ้งว่าค่าตอบแทนต้องรอดูผลงานก่อนซึ่งการจ้างจะเป็นลักษณะงานเหมา กำหนดจ่ายค่าตอบแทนทุกวันสิ้นเดือน ลูกจ้างและครอบครัวจึงได้ตัดสินใจที่จะไม่ทำงานกับนายจ้าง เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันในเรื่องค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานได้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตรจึงได้ประสานนายจ้างสวนส้มรายอื่น เพื่อจะให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน แต่ลูกจ้างนั้นไม่ประสงค์จะทำงานที่จังหวัดพิจิตรแล้ว และจะขอกลับไปจังหวัดระยอง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพิจิตรจึงได้ให้ความช่วยเหลือค่าอาหาร และค่าน้ำมันรถ พร้อมทั้งประสานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพิจิตรเพื่อให้ที่พักอาศัยให้แก่ลูกจ้างและครอบครัว 1 คืน และจัดหารถยนต์เพื่อนำลูกจ้างและครอบครัวไปส่งยังจังหวัดระยอง
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวนี้ไม่พบว่ามีการหลอกลวงมาทำงาน ไม่ได้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด จึงไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และเนื่องจากลูกจ้างยังไม่ได้มีการทำงาน สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงยังไม่เกิดขึ้น