เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย” สร้างแบรนด์กาแฟกัญชา หวังกัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ทำให้ประชาชนสร้างรายได้ มีโอกาสลืมตาอ้าปาก
“เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย” สร้างแบรนด์กาแฟกัญชา หวังกัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ทำให้ประชาชนสร้างรายได้ มีโอกาสลืมตาอ้าปาก
วันที่ 11 มีนาคม 2564 ห้องประชุม 1 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม “กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจไทย” โดย ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย นายศักดิ์ชาย พรหมโท ประธานผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยแห่งประเทศไทย และ ผศ.ดร นิภาพร อามัสสา หรือ “หมอแจง” เจ้าของ “หมอแจงคลินิกการแพทย์แผนไทย” ที่ได้รับอนุญาต “หนังสือสำคัญจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นั้นคือ กัญชาและ กัญชง และตัวแทน กรม และ กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กลุ่มเกษตรกรต้องขอขอบคุณ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนและให้ความสำคัญเกษตรกรที่จะปลูกกัญชาและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจไทย และรัฐบาลเองก็ได้ออกไปสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกัญชาและกัญชงแก่ประชาชนในทุกมิติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
และจากการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและกัญชงได้แล้ว ด้วยการตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยฯ หรือหน่วยงานสาธารณสุข
ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า ซึ่งตอนนี้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น นำผลผลิตส่งโรงพยาบาลทำยา และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของต้นกัญชานำมาทำอาหาร เครื่องสำอาง และแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้ และบางวิสาหกิจชุมชนก็ตัดช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วย และแปรรูปส่วนอื่นๆ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก มาเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาปรุงอาหาร สร้างรายได้อย่างมาก ส่วนกัญชงที่ปลูกง่ายกว่า สามารถปลูกคู่กันได้ โดยขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งให้ความร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มที่
จนมาวันนี้ “เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย” สามารถสร้างแบรนด์กาแฟกัญชาเป็นของพวกเราเองชื่อว่า “หมู่บ้านวิสาหกิจกาแฟกัญชา” และหวังว่ากัญชาและกัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการสร้างรายได้ มีทางลืมตาอ้าปาก จากพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยทางรัฐบาลพยายามคลายล็อกให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น และขอความร่วมมือไปยังผู้ที่สนใจที่จะขออนุญาตปลูกกันทำความเข้าใจและศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องต่อไป