กมธ.สาธารณสุข ติดตามการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
กมธ.สาธารณสุข ติดตามการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองค้า และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแทง จังหวัดศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดย นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมี นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้าร่วมการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจังหวัดศรีสะเกษ มีทั้ง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอน ซึ่ง รพ.สต. หนองค้า เป็น รพ.สต. ขนาด M ที่ไม่ถ่ายโอน ยังคงอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลพยุห์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย มีการดำเนินงานและจัดบริการครอบคลุมทุกกลุ่มวัย รวมทั้งการจัดหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่พบว่ามีปัญหาสำคัญ คือ การขาดแคลนบุคลากร ที่ไม่เป็นไปตามกรอบอัตรากำลัง ทั้งนี้ การทำงานในพื้นที่มีการทำงานร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ซึ่งกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน มีหน้าที่ในการวางแผนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงการบริหารจัดการด้านบุคลากร และงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพระดับอำเภอ
.
สำหรับ รพ.สต. บ้านแทง ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 การปฏิบัติงานของ รพ.สต. มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการจัดจ้างบุคลากรเพิ่มเติมจาก อบจ. นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับ อบจ. รวมทั้งการดำเนินภารกิจที่ครอบคลุมทุกด้านตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีการดูแลส่งเสริมสุขภาพ 5 กลุ่มวัย ตลอดจนการคัดกรอง ป้องกันและควบคุมโรค การเยี่ยมบ้านร่วมกับสหวิชาชีพ และการจัดและให้บริการในพื้นที่ร่วมกับโรงพยาบาลศรีสะเกษซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อตรวจรักษาและให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ
.
คณะกรรมาธิการ มีข้อห่วงใยในประเด็นการส่งเสริมป้องกันโรค โดยเฉพาะอัตราส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมีจากการทำการเกษตร และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคมะเร็ง สำหรับประเด็นเรื่องบุคลากรเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละสังกัด ต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานมีตัวชี้วัดจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดควรพิจารณาจัดทำหรือบูรณาการตัวชี้วัดที่สำคัญและทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดจนเมื่อถ่ายโอนภารกิจไปแล้วควรจัดทำตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ภารกิจของ อบจ. เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาวด้านสุขภาพของประชาชนในภาพรวม