ทรัพยากรทะเลยั่งยืน จากกฏเหล็ก IUU
ทรัพยากรทะเลยั่งยืน จากกฏเหล็ก IUU
เดือนเมษายน 2558 ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือน(ใบเหลือง)จากสหภาพยุโรปว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การความความ หรือที่เรียกว่า IUU Fishing แต่ยังไม่มีผลต่อการระงับการนำเข้าสินค้าประมงที่จับโดยเรือไทยที่ส่งไปขายในตลาดสหภาพยุโรปแต่อย่างใด ซึ่งสหภาพยุโรปให้ระยะเวลาไทยในการปรับปรุงแก้ไขภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นหากประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหา IUU Fishing ได้ อาจถูกห้ามสินค้าในอุตสาหกรรมประมงที่ส่งเข้าไปขายในประเทศทางยุโรป โดยในภาพรวมจะทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกนับแสนล้าน ผู้ประกอบอาชีพทำการประมงทั้งระบบจะประสบกับวิกฤต ทั้งเจ้าของกิจการเรือประมงในประเทศ แรงงานทั้งไทยและแรงงานต่างด้าว รวมทั้งผู้ประกอบการต้นทาง เช่น ผู้ประกอบการผลิตน้ำแข็ง อุปกรณ์การประมง รวมถึงผู้ประกอบการปลายทาง เช่น ผู้ส่งออกสินค้า ผู้จัดจำหน่าย ด้วย
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหา IUU Fishing ด้วยมาตรการหลายด้านเช่น การกำหนดเขตทะเลชายฝั่งตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละจังหวัด กำหนดมาตรการ ควบคุม เฝ้าระวัง ทั้งเรือประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ การแจ้งเข้า-ออกของศูนย์ PIPO การติดระบบติดตามเรือ (VMS) รวมไปถึงการจัดระเบียบท่าเทียบเรือ มีการสร้างความชัดเจนของสถานะและจำนวนเรือประมงที่แน่นอน ทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ จัดทำอัตลักษณ์และวัดขนาดเรือประมง พาณิชย์ทุกลำ สำรวจความมีอยู่จริงแก้ปัญหาสวมเรือ (จม/ผุพัง/ขายไปที่อื่น) ควบคุมเรือที่ไม่มีใบอนุญาต และเรือที่มีคดีไม่ให้ออกไปทำประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ รวมถึงการกำหนดเครื่องมือการทำประมง วิธีการทำประมง ในเขตทะเลชายฝั่ง
8 มกราคม 2562 หลังจากใช้มาตรการอย่างเข้มข้น สหภาพยุโรปได้เพิกถอนประเทศไทย จากกลุ่ม “ประเทศที่ถูกเตือน” ทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU fishing นอกจากส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่ดีของการประมงไทยแล้ว ยังมีผลต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลของอย่างเห็นได้ชัดจาก เช่น ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี พบว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำในแหล่งประมงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีผลรวมเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2558 โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา พบปริมาณการจับสัตว์น้ำในพื้นที่ทะเล จังหวัดจันทบุรี ได้มากถึง 154,972 ตัน อีกทั้งขนาดของสัตว์น้ำ และพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่มีความชุกชุมขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้าน และ ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภค ประชาชน นักท่องเที่ยว ก็มีอาหารทะเลรับประทานได้หลากหลายขึ้น
ด้านนายนิวัติ ธัญญะชาติ ประธานกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน บ้านหัวแหลม – ท่าแคลง กล่าวว่าในช่วงแรกที่ถูกบังคับเข้มเรื่องการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำชาวบ้านไม่เห็นด้วย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปชาวบ้านก็เห็นว่ามีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งทุกครัวเรือนให้ความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์จับ ปู ปลา กุ้ง หอย ที่มีขนาดตามควร มีการจัดตั้งกลุ่มบ้านปลา ธนาคารปู เพื่อสงวน อนุรักษ์อย่างยั่งยืน ……………ปล่อยเสียงสัมภาษณ์ นายนิวัติ ธัญญะชาติ ประธานกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน บ้านหัวแหลม – ท่าแคลง…………………….
การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และชี้แจงทำความเข้าใจกับ ชาวประมงพื้นบ้านทำให้เกิดความ ร่วมมือในทำประมงที่ถูกกฎหมาย มีการรายงาน และการควบคุม ตลอดจนความร่วมมือในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้เติบโต ขยายพันธุ์ มีวงจรห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ส่งผลให้ท้องทะเลมีพันธุ์สัตว์น้ำที่สมบูรณ์มากขึ้นตามลำดับ นี่คือผลจากการที่ภาครัฐและทุกฝ่าย ได้ร่วมกันจัดระเบียบการทำประมงอย่างจริงจัง
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ทีมข่าวภูมิภาค
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก