ชื่อถั่วแระญี่ปุ่นแต่ปลูกได้ที่พิจิตรเกษตรกรสุดปลื้มปลูกแล้วขายได้จริงดีกว่าทำนาหลายเท่าตัว

ชื่อถั่วแระญี่ปุ่นแต่ปลูกได้ที่พิจิตรเกษตรกรสุดปลื้มปลูกแล้วขายได้จริงดีกว่าทำนาหลายเท่าตัว

เกษตรจังหวัดพิจิตรไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ ลงพื้นที่ลุยแนะนำเกษตรกร ลด ละ เลิก การทำนาปรัง ในช่วงฤดูแล้ง แนะนำส่งเสริมพร้อมช่วยหาตลาดผู้ซื้อ ถั่วแระญี่ปุ่น ชื่อเหมือนมาจากแจแปน แต่ปลูกได้ในดินแดนเมืองชาละวัน

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 นายวีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรและแจ้งถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ว่า น่าจะอยู่ในสถานการณ์วิกฤตยาวนานอีกหลายเดือน ไปจนกว่าจะถึงฤดูฝน โดยวันนี้ได้ลงพื้นที่พบกับเกษตรกร ผู้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย หมู่ที่ 9 ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นแปลงของ นายสังคม ราศรี พลิกผืนนามาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น จำนวน 40 ไร่ สำหรับถั่วแระญี่ปุ่น เป็นพืชอายุสั้น มีอายุการเก็บเกี่ยว 65 – 70 วัน มีต้นทุนการผลิตต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 7000 – 8000 บาท ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 1,200 – 1,400 กิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้ต่อไร่ประมาณ 20,400 – 23,800 บาท มีบริษัทมารับซื้อ และมีประกันราคาให้ที่กิโลกรัมละ 17 บาท หรือตันละ 17,000 บาท

สำหรับการเก็บเกี่ยวจะใช้แรงงานคน และมีการคัดเกรดตามข้อกำหนดของบริษัทโดยผลิตให้แก่ บริษัท เชียงใหม่โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด(มหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำรูปแบบเกษตรพันธสัญญา โดยผ่านการตัดเกรดคุณภาพผลผลิตตามเกณฑ์ของบริษัท เกษตรกรต้องผลิตตามมาตรฐานและข้อกำหนดของบริษัท มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัทเข้ามาให้คำปรึกษา และมีการเข้าตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งต้องใช้สารเคมีตามที่บริษัทกำหนดและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัท โดยปลูกแบบยกร่อง และใช้เครื่องปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 20 เซ็น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ 12-13 กิโลกรัมต่อไร่ ใน 1 หลุมหยอดเมล็ดประมาณ 2 -3 เมล็ด ค่าเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 100 บาทและใช้ปุ๋ยตามที่บริษัทกำหนด ให้น้ำตามร่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การเก็บเกี่ยวใช้แรงงานคน กิโลกรัมละ 2.50 บาท เก็บสูงสุดต่อคน 150 กก /วัน มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจสอบสารเคมีในช่วงถั่วแระได้ 62 วัน

นายสังคม ราศรี เกษตรกรผู้ปลูกถั่วแระญี่ปุ่น กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้งพื้นที่ของตนเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง ซึ่งพื้นที่ของตนเองสามารถทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง จึงได้มีการทดลองตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอวังทรายพูน โดยได้หันมาปรับเปลี่ยนปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเป็นการทดแทน โดยตนเองเลือกปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อย รวมถึงการดูแลที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 65-70 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทำให้ตนมีรายได้จากการปลูกถั่วแระญี่ปุ่นเป็นกอบเป็นกำ”

ในส่วนของ วีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดพิจิตร ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร และสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 12 ขอความร่วมมือเกษตรกรลดพื้นที่การปลูกข้าวมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งเกษตรกรรายนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น ตามคำแนะนำและการส่งเสริม ซึ่งนับว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีราคาค่อนข้างสูง สามารถเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นได้ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจปลูกถั่วแระญี่ปุ่นจะต้องศึกษาโรคแมลง และตลาดก่อนปลูกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร 056-613423 ต่อ 103 ได้ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อที่เกษตรกรโดยตรงที่ หมายเลข 061-2963946 นายสังคม ราศรี เกษตรกรผู้ปลูกถั่วแระญี่ปุ่น ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

สิทธิพจน์ พิจิตร