มุกดาหาร ผลักดันสนามบินมุกดาหาร กระตุ้นเศรษฐกิจชายแดน
มุกดาหาร ผลักดันสนามบินมุกดาหาร กระตุ้นเศรษฐกิจชายแดน
มุกดาหาร/เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนามบินมุกดาหารอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร 7 ตําบล 26 หมู่บ้าน จึงมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสนามบินจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า รอบจังหวัดมุกดาหารมีสนามบินอยู่ 3 แห่งทั้งจังหวัดนครพนม สกลนคร และ อุบลราชธานี การสร้างสนามบินแห่งใหม่จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่
นาย เสรี อ้มวิชา ชาวตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร บอกว่า ที่ดินของตนเองที่อยู่ในรัศมีก่อสร้างสนามบิน ปัจจุบันมีการสร้างคอกวัว ปลูกหญ้า กำลังจะสร้างที่อยู่อาศัย พอโดนเวนคืนก็จิตตกนิดหนึ่ง เป้าหมายที่วางไว้ ผิดความคาดหมายก็ต้องย้อนไปวางแผนใหม่ ชะงักการใช้ชีวิตชั่วคราว โดยรวมคิดว่าจะดี แต่ความคิดส่วนตัวคิดว่า ไม่สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรโดยแท้จริง อาจจะไม่มีประโยชน์กว่าการสร้างคลองน้ำ ชลประทานเพื่อการเกษตร โดยตนเองกับเพื่อนเคยคัดค้านตั้งแต่ทีแรก เพราะว่าฝั่งนี้เป็นฝั่งที่มีโฉนดมันหายาก เพราะโซนตรงข้ามมันเป็น สปก. ความแตกต่างจะแตกต่างกันมาก ก็อยากคัดค้านไม่อยากให้เป็นสนามบิน อยากให้พัฒนาในส่วนอื่นมากกว่าสนามบิน เพราะจังหวัดมุกดาหาร มีสนามบินรอบข้างทั้ง อุบลราชานี สกลนคร นครพนม พร้อมแล้ว แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนยังลำบากอยู่ ขนาดจังหวัดมุกดาหารติดแม่น้ำโขงแท้ ๆ ยังไม่มีน้ำขึ้นมาฝันใช้ในการเกษตรตลอดทั้งปีได้เลย แล้วคุณจะไปพัฒนาสิ่งที่มันเกินความจำเป็น ไม่อยากเห็นด้วยเท่าไหร่ ส่วนเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ก็อยากได้ราคาสูงกว่าที่ซื้อมา
และไม่แตกต่างจากชาวบ้านอีกคนที่มองว่า ชาวมุกดาหารส่วนใหญ่อยากได้สนามบินเพราะเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดดีขึ้น ทั้งการค้าขาย การลงทุน ก็จะคล่องตัว แต่การทำประชาคม 2 ครั้งที่ผ่านมากลับยังไม่มีรายละเอียดเรื่องราคาเวนคืนที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ชาวบ้านอยากรู้เพราะบางคนมีพื้นที่ทางการเกษตรเพียงแห่งเดียวหากถูกเวนคืนก็จะไร้อาชีพ
นาย บวร วงศ์ศรีเทพ ชาวตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร เปิดเผยว่า อยากให้ทางการมาชี้แจงเรื่องค่าเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านก็มีที่ดินก็กระทบกับชาวบ้าน ถ้าได้ไม่สมน้ำสมเนื้อ ถ้าไปซื้อที่อื่นก็ไม่ได้ที่ดินมีราคาสูง ส่วนเรื่องสนามบินถ้ามีความเจริญ ก็ตามมา การเป็นอยู่ของชาวบ้านก็มีงานทำ นี่คือส่วนที่ดี และส่วนที่ไม่ดีคือกระทบกับพี่น้องมีที่ดินที่ไร่ที่นาไม่พออยู่พอกินอยู่แล้ว อยากให้ชดเชยสมน้ำสมเนื้อ ให้มองความเหลื่อมล้ำ อยากให้ชาวบ้านพออยู่พอกิน
นาย บวร วงศ์ศรีเทพ เปิดเผยอีกว่า ส่วนเรื่องสนามบินที่จะมาก่อสร้างที่ตำบลคำป่าหลาย ชาวบ้านต้องการความเจริญ และสะดวกในการสัญจรไปมา ส่วนนี้ก็สำคัญอีกส่วนทำมาค้าขาย ส่วนที่ถูกเวนคืนคือชาวบ้านก็ถูกสภาวะจำยอม เนื่องจากว่าเป็นรัฐที่จะมาก่อสร้าง จำเป็นต้องยอม เพราะมีกฎหมายเวนคืนอยู่แล้ว นี่คือส่วนที่กระทบกับชาวบ้าน ชาวบ้านมีความกังวลเรื่อเวนคืนที่ดิน
ขณะที่ภาคธุรกิจเชื่อว่า เมื่อได้สนามบินแห่งใหม่ และ รถไฟทางคู่บ้านไผ่-มุกดาหาร ก่อสร้างแล้วเสร็จ จังหวัดมุกดาหาร ก็พร้อมเป็นฮับโลจิสติกส์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และไม่เพียงชาวมุกดาหารเท่านั้นที่จะใช้บริการสนามบิน แต่ชาวสะหวันนะเขต ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอีกกว่าล้านคนก็มีความต้องการเช่นเดียวกัน
ด้าน นายสมศักดิ์ สีบุญเรือง กรรมการเลขาธิการ หอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า พื้นที่จะสร้างสนามบินเป็นบริเวณทุ่งนา ท้ายโรงงานแป้งมัน มีพื้นที่ 2,000 ไร่ โดยประชุมแสดงความคิดเห็นโดยครั้งแรกเดือนพฤษภาคม ครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคม ครั้งสุดท้ายเดือนตุลาคม โดยครั้งที่ 2 กรมท่าอากาศยานให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบรันเวย์ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หลังจากออกแบบ เสร็จเรียบร้อยภายใน 2 ปี ( ปี 65-66 ) หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเวนคืน ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็จะเป็นการก่อสร้างใช้เวลา 3-4 ปี คาดว่าอย่างเร็วเป็นปี 2570 อย่างช้า 2571
นายสมศักดิ์ สีบุญเรือง กล่าวอีกว่า ส่วนการประชาพิจารณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นชอบ แต่ก็มีความกังวลเรื่องการเวนคืน ทางกลุ่มที่ปรึกษาต้องมาทำความเข้าใจ มันเป็นความต้องการของคนมุกดาหาร ส่วนได้เสียของคนที่มีผลกระทบในการก่อสร้างก็มีน้อย และชาวบ้านรับรู้ว่ามุกดาหารจะเจริญ เศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น เรารอทางรถไฟทางคู่บ้านไฝ่ อีกประมาณ 4 ปี ก็ใกล้ ๆ กับการสร้างสนามบิน ส่วนลูกค้าที่มาใช้บริการคงไม่ต่ำกว่า 100,000 คน / ปี รวมไปถึงชาว สปป.ลาว ชาวเวียดนาม และชาวจีน ที่จะเข้ามาใช้บริการ
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสนามบินมุกดาหาร วงเงินก่อสร้างประมาณ 5 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และเปิดบริการได้ประมาณปี 2571 ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสนามบินมุกดาหาร ก็จะเป็นสนามบินลำดับที่ 30 ของประเทศไทย
ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร/รายงานจากมุกดาหาร
081-0501177