จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมการประชุม VDO Conference กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย PALANCHAI TV/ชสอท./nuk-tump/0817082129

จังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมการประชุม VDO Conference กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

PALANCHAI TV/ชสอท./nuk-tump/0817082129

– วันนี้ 4 ต.ค. 2562 เวลา 10.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายให้นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมการประชุม VDO Conference กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด
ตามที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 โดยจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี ซึ่งมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้กำกับควบคุมพื้นที่ (Area Command) ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้รายงานว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วน โดยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 20 อำเภอ 179 ตำบล 2,193 หมู่บ้าน และอยู่ระหว่างการเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ตลอดจนมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
โดยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ดังนี้
1.กรณีทรายทับถมพื้นที่การเกษตร
จากปัญหาทรายทับถมพื้นที่การเกษตร ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดได้ลงพื้นที่ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 เพื่อรับฟังปัญหาพร้อมทั้งแนวทางแก้ไข และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2562 อำเภอเสลภูมิได้เข้าดำเนินการสำรวจความต้องการ และทำประชาคม พบว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทรายทับถมพื้นที่การเกษตร จำนวน 4 ตำบล 13 หมู่บ้าน เกษตรกร 86 ราย พื้นที่ 597.1 ไร่ พร้อมทั้งให้ผู้ประสบอุทกภัยที่มีทรายทับถมพื้นที่การเกษตร ยื่นความจำนงในการดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษร รายละเอียดดังนี้
1.1. เกษตรกรที่ประสงค์ขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อไปดำเนินการขนย้ายทรายออกจากพื้นที่การเกษตร จำนวน 68 ราย ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ในอัตราไร่ละไม่เกิน 7,000 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ รวมจำนวน 277 ไร่
1.2. เกษตรกรที่ประสงค์ให้ส่วนราชการนำเครื่องจักรกลเข้าดำเนินการขนย้ายทรายออกจากพื้นที่การเกษตร จำนวน 17 ราย รวม 81 ไร่
1.3. เกษตรกรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำนวน 1 ราย รวม 4.3 ไร่
และอำเภอเสลภูมิจะได้ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ และส่งมติให้ที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ตามระเบียบทางราชการ
ทั้งนี้จังหวัดได้รับการอนุมัติขยายวงเงินและยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบฯ จังหวัดร้อยเอ็ดจะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หน่วยงานทหาร ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น โครงการชลประทานร้อยเอ็ด องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด แขวงทางหลวงร้อยเอ็ด แขวงทางหลวงชนบทร้อยเอ็ด สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าดำเนินการขนทราย รวมทั้งซากวัสดุ ออกจากพื้นที่และพัฒนาพื้นที่ ให้สามารถทำการเพาะปลูกพืชระยะสั้น เพื่อเสริมรายได้ก่อนดำเนินการเพาะปลูกข้าวนาปี ต่อไป
2. กรณีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีบ้านเรือนเสียหายมาก (30-70%) จำนวน 12 หลัง และบ้านเรือนเสียหายน้อย (น้อยกว่า 30%) จำนวน 1,828 หลัง (จากเดิม 1,821 หลัง) ทั้งนี้ จังหวัดได้เร่งดำเนินการสำรวจข้อมูลให้ครบถ้วนต่อไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายไปแล้ว จำนวน 51 หลัง และบางส่วนยังอยู่ระหว่างการสำรวจ โดยจังหวัดได้แจ้งให้อำเภอจัดกิจกรรมซ่อมแซมบ้านเรือน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งดำเนินการโดยจิตอาสา พร้อมทั้งรายงานให้จังหวัดทราบ
3. ด้านเกษตร ได้เร่งสำรวจและทำประชาคมกรณีพื้นที่ทางเกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และส่งเสริมการเพาะปลูกพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว มันเทศ ปอเทือง และสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น สนับสนุนพันธุ์พืช 3 ชนิด ได้แก่ จิงจู่ฉ่าย พริก มะเขือ สนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์ม่า เพื่อป้องกันโรคพืช
4. ด้านปศุสัตว์ ได้สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ประสบอุทกภัย และส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในครัวเรือน
5. ด้านประมง อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจและส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุกในกระชังบก
6. ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ ได้ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ซึ่งหน่วยงานด้านคมนาคม ได้เสนอโครงการเพื่อประกอบการขอรับการสนับสนุนการซ่อมแซมถนนในความรับผิดชอบ จำนวน 13 โครงการ รวมทั้งสิ้น 510 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการซ่อมแซมถนน จำนวน 5 สาย ซ่อมแซมคอสะพาน จำนวน 4 แห่ง และติดตั้งสะพานแบริ่ง จำนวน 2 แห่ง ซึ่งจังหวัดจะเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย
สิ่งสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติม
7. ด้านอาชีพ มีหน่วยงานดำเนินการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ดังนี้
7.1. สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินโครงการซ่อมเครื่องยนต์ ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ให้ผู้ประสบอุทกภัย
7.2. สำนักงานแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด มีแผนงาน/โครงการ ดำเนินกิจกรรม
จ้างงานเร่งด่วน เช่น ส่งเสริมการพัฒนาทำความสะอาดชุมชน ทาสีอาคารสถานีอนามัย กำจัดวัชพืชในร่องน้ำ กำจัดผักตบชวา ฯลฯ และกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ เช่น กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล กลุ่มสาขาอาชีพ
ช่างไฟฟ้า กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง กลุ่มอาชีพช่างเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ กลุ่มอาชีพธุรกิจบริการ และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ
8. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และจุดพักพิง ให้บริการในสถานพยาบาลอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ดูแลด้านสุขภาพจิต เฝ้าระวังป้องกันโรค โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 2 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง เปิดบริการได้บางส่วน 1 แห่ง ปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติครบทั้งหมดแล้ว
9. วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด จัดโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center) เพื่อดำเนินการซ่อมรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่และนักศึกษา จากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด สาขาวิชาช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
10. การประปาส่วนภูมิภาค สาขาร้อยเอ็ด
10.1. ดำเนินกิจกรรมบรรทุกน้ำช่วยล้างบ้าน ทำความสะอาดบ้านเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม/น้ำท่วมขังให้คืนสู่สภาพเดิมในทันทีที่น้ำลดลงแล้ว
10.2. กิจกรรม Homecare คลายทุกข์ เจ้าหน้าที่ กปภ.เข้าตรวจสอบมาตรวัดน้ำที่ชำรุดเสียหาย ซ่อมแซมระบบประปา/ท่อประปาภายในบ้านที่ได้รับความเสียหายโดยไม่คิดค่าแรง เพื่อให้ผู้ใช้น้ำสามารถใช้การได้ตามปกติ
พร้อมประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป
10.3. กิจกรรมเติมใจคลายกังวล ในช่วงระยะเวลาที่น้ำท่วมบ้าน กปภ.จะไม่คิดค่าน้ำประปาทั้งผู้อาศัยที่ไม่ได้ย้ายออกจากบ้านและได้ย้ายออกจากบ้าน รวมถึงการขยายเวลาดำเนินธุรกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามีแล้วแต่กรณี) และ
10.4. กิจกรรม กปภ.-อปท. เพื่อปวงชน โดยผู้เชี่ยวชาญ กปภ. ให้ความช่วยเหลือวิชาการระบบประปาแก่ อปท.ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อร่วมกันฟื้นฟูระบบประปาของ อปท.
สู่สภาพปกติพร้อมให้บริการประชาชน
11. โรงเรียนได้รับผลกระทบ 216 แห่ง อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
และได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวน 1 แห่ง
12. มีการจัดตั้งศูนย์พักพิง จำนวน 22 จุด และปัจจุบันได้ยุติแล้วทุกจุด
13. จังหวัดได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ กำหนดแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
14. ด้านสิ่งแวดล้อม
14.1. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด มีแนวทางแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นน้ำเน่าเสีย โดยการใช้ปูนขาวและคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค
14.2. สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด มีแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียโดยใช้สารเร่ง พด.6 ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมัก พด.1 และน้ำหมัก พด.2 และให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด
ทั้งนี้นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานที่ประชุมได้เน้นย้ำการเร่งให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และ ก.ช.ภ.จ.รอ. โดยมอบภารกิจให้ชีดเจน และระดมเจ้าหน้าทุกหน่วยเข้าสำรวจ ฟื้นฟูเยียวยาตามอำนาจหน้าที่และระเบียบกฎหมายโดยเร็วที่สุด

/PALANCHAI TV/ชมรมสื่อออนไลน์IT/สมนึก บุญศรี-ประธาน/0817082129-ข่าว
/ธนภัทร รัตนสมัย/เลขารองผวจ.รอ.-ภาพ