กมธ.ปกครองท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับประเด็นท้องถิ่นดิจิทัลและระบบบริหารจัดการและการให้บริการประชาชน
กมธ.ปกครองท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับประเด็นท้องถิ่นดิจิทัลและระบบบริหารจัดการและการให้บริการประชาชน
วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ชั้น 18 ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และเมืองพัทยา ศึกษาดูงานสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นท้องถิ่นดิจิทัลและระบบบริหารจัดการและการให้บริการประชาชน (Local Government) โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้นำผลงานจากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นต้นแบบแม่เหียะโมเดล ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ระบบ คือ
1) ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) ประชาชนสามารถยื่นคำร้องออนไลน์ได้ด้วยตนเอง
2) ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ สำหรับพื้นที่ไม่เกิน
150 ตารางเมตร ประชาชนสามารถยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างและปักหมุดสถานที่ก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์
3) ระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์ ประชาชนสามารถชำระค่าธรรมเนียมขยะโดยสแกน QR Code
4) ระบบออกหนังสือรับรองการแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารออนไลน์ ประชาชนสามารถขอหนังสือรับรองได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์
5) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e – Office) หน่วยงานสามารถใช้ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ในการรับ – ส่งหนังสือสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้
.
ซึ่งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้มีการจัดอบรมระบบการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างความสำเร็จ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ 50 แห่ง นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลาย สามารถติดตามผลการดำเนินงานด้วยตนเองได้ตลอดเวลา ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อหน่วยงานเพื่อขอรับบริการต่าง ๆ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สามารถจัดเก็บข้อมูลและให้บริการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังลดต้นทุนการดำเนินงานและการให้บริการประชาชน
.
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้พบข้อจำกัด อาทิ ประชาชนยังไม่รับรู้และส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต และยังคงยึดติดกับการเดินทางเข้ามารับบริการด้วยตนเองดีกว่าใช้บริการผ่านระบบดิจิทัล เป็นต้น
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการติดตามการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผลักดันให้เป็นท้องถิ่นดิจิทัลต่อไป