สุราษฎร์ธานี // ปลัด ทส. มอบกรมทะเลฯแจ้งทุกจังหวัดหลังพบ”บลูริง หมึกมรณะ” พบขายในตลาดนัดปทุมธานี พิษถึงตาย รมว.วราวุธ ห่วงใยสั่งให้ขยายผลถึงสัตว์มีพิษอื่นๆในทะเลด้วย.
สุราษฎร์ธานี // ปลัด ทส. มอบกรมทะเลฯแจ้งทุกจังหวัดหลังพบ”บลูริง หมึกมรณะ” พบขายในตลาดนัดปทุมธานี พิษถึงตาย รมว.วราวุธ ห่วงใยสั่งให้ขยายผลถึงสัตว์มีพิษอื่นๆในทะเลด้วย.
ข่าว : พจน์ คำจันทร์
ภาพ : ชาตรี ศรีชุม
ศูนย์ข่าวสุราษฎร์ธานี
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 พย. 63 เพจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้แจ้งเตือนเรื่องการพบหมึกบลูริงเสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัด จ.ปทุมธานี นั้น เรื่องดังกล่าวกรม ทช. โดยอธิบดีโสภณ ทองดี ขอย้ำเตือนถึงพิษของหมึกบลูริงที่มีความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต พร้อมให้เร่งาปชส.เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน หากพบเห็นให้หลีกเลี่ยง ห้ามสัมผัสและห้ามบริโภคโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ได้เตรียมประสานทุกจังหวัดทั่วประเทศให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนหากพบเห็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที
ล่าสุดวันนี้ (1 ธค. 63)กรมทช. โดยอธิบดีโสภณ ทองดี ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่าหมึกบลูริง มีขนาดไม่ใหญ่มากนักจะพบได้ในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันรวมทั้ง ทะเลแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสัตว์ที่อาศัยบริเวณผืนทรายใต้ท้องน้ำและแนวปะการัง ส่วนมากจะติดมากับเครื่องมือประมงและการแอบเลี้ยงของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ทะเลแปลกสวยงาม ซึ่งทางกรมประมงได้มีประกาศห้ามมิให้เลี้ยงหรือนำเข้าหมึกชนิดนี้แล้ว แต่ยังพบมีการลักลอบนำเข้า อย่างไรก็ตาม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแจ้งประสานทุกจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับทราบเป็นการเร่งด่วนแล้ว
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้นักวิชาการที่ศึกษาด้านชีววิทยาสัตว์ทะเลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหมึกบลูริง จัดทำสื่อการเรียนรู้และข้อมูลประกอบเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนทุกคนให้ทราบ ซึ่งประเด็นดังกล่าวแม้จะกลายเป็นกระแสสังคม หลายคนเริ่มรู้จักหมึกบลูริงมากขึ้น แต่เราก็ไม่อาจจะปล่อยผ่านได้ อีกทั้งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้แสดงความห่วงใยสั่งเน้นย้ำให้เร่งประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นในทุกรูปแบบ และกระจายให้ทั่วทั้งประเทศ เนื่องจาก ปลายปีที่ผ่านมาเคยมีการพบหมึกบลูริงเสียบไม้ปิ้งขายเช่นนี้ ในพื้นที่จังหวัดตาก นอกจากนี้ รมว.ทส. ยังได้สั่งการให้ขยายผลไปยังสัตว์ทะเลมีพิษอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตด้วย เช่น ปลาปักเป้า,แมงกระพรุน ที่มีการนำมาบริโภคกันในปัจจุบัน เป็นต้น
ขอฝากเตือนประชาชนทุกคนที่พบเห็นหมึกที่มีลักษณะคล้ายหมึกยักษ์แต่มีขนาดเล็กมีลายวงสีน้ำเงินเด่นชัด ห้ามสัมผัสหรือบริโภคเด็ดขาด แม้จะผ่านกรรมวิธีด้วยความร้อนแล้วก็ตาม เนื่องจาก พิษชนิดนี้สามารถทนความร้อนได้มากกว่า 200 องศาเซลเซียส สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อมีการสัมผัสหรือบริโภค หากหมดสติให้รีบเป่าปาก หรือ รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งหากการช่วยเหลือเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่จะขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย
หากมีการพบเห็นในธรรมชาติให้พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัส และหากมีการพบเห็นว่ามีการจำหน่ายทั้งแบบยังมีชีวิตหรือขายเป็นอาหารตามท้องตลาด หรือไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ ควรแจ้งหน่วยงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั่วประเทศ หรือแจ้งสายด่วน GREEN CALL 1310 เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญไปตรวจสอบโดยด่วน
ด้านนายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนได้ทราบถึงอันตรายของหมึกมรณะและสัตว์ทะเลที่มีพิษชนิดอื่นๆเพื่อสนองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนต่อไป.